คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การสั้น ๆ ว่า จำเลยขอปฏิเสธว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 5 ไม่เป็นความจริง กล่าวคือ ธนาคาร ก. ไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ ให้แก่ผู้ทรง จำเลยจึงไม่ได้เป็นหนี้ธนาคาร ก. และไม่เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องนั้น เป็นการให้การแต่เพียงว่า ธนาคาร ก. ยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้เป็นหนี้ธนาคาร ก. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เลยว่า จำเลยทั้งสองได้นำเงินที่จะต้องชำระให้แก่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ ไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ธนาคารหักทอนบัญชีชำระหนี้สินที่มีต่อกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งมานำสืบต่อสู้ในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นและนอกเหนือจากคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 713,677.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของเงินต้น 340,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนอื่นให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 713,677.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 340,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินชำระหนี้ไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วแลกเงินจำนวน 4 ฉบับ และนำมาให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี รับรองการจ่ายเงิน จำนวน 90,000 บาท 80,000 บาท 80,000 บาท และ 90,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 340,000 บาท ให้แก่บริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือตามคำสั่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตกลงรับรองการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าก่อนถึงกำหนดเวลาชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับ จำเลยที่ 1 จะนำเงินมามอบให้แก่ธนาคารเพื่อชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับ หากจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินมาชำระ เป็นเหตุให้ธนาคารในฐานะผู้รับรองการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินต้องชำระเงินให้แก่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินแล้ว จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่ธนาคารได้ชำระไปพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำนวน 350,000 บาท และจำเลยที่ 3 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 12289 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันลำดับ 2 เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 350,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี มีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดจนครบ
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ ให้แก่ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ครบถ้วนแล้ว ต่อมาธนาคารได้นำเงินของจำเลยที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินแล้วครบถ้วน การนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการนำสืบนอกประเด็นและนอกคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้แล้วหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การสั้น ๆ ว่า จำเลยขอปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 5 ไม่เป็นความจริง กล่าวคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ ให้แก่ผู้ทรงแต่อย่างใด จำเลยทั้งหมดจึงไม่ได้เป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และไม่เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องนั้น เป็นการให้การแต่เพียงว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้เป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ไว้เลยว่า จำเลยทั้งสองได้นำเงินที่จะต้องชำระให้แก่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับ ไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ธนาคารหักทอนบัญชีชำระหนี้สินที่มีต่อกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งมานำสืบต่อสู้ในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นและนอกเหนือจากคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share