คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3383/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรณีที่จะต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนแล้วจึงจะฟ้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสองนั้นจะต้องเป็นกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติไว้เช่นนั้นแต่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าจ้างค้างชำระและค่าชดเชยจาก จำเลยทั้งสอง นอกจากจะมิใช่คดีเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ โดยเป็นคดีเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้ว ในการฟ้องเรียกเงินดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามวิธีการที่กำหนด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่ผู้จัดการโรงงานและวิศวกร ประจำโรงงานได้ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นหัวหน้าแผนกช่างซ่อมบำรุงประจำโรงงาน ได้ค่าจ้างเดือนละ 9,069 บาทจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ที่ 1 สำหรับเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2535รวม 2 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท ค้างชำระค่าจ้างโจทก์ที่ 2ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 7 กันยายน 2535 เป็นเวลา 1 เดือน7 วัน เป็นเงิน 11,183 บาท แต่โจทก์ทั้งสองก็ยังปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งมาโดยตลอด จำเลยกลับหาเหตุกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองกระทำความผิด และมี คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างที่ค้างจ่ายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ก่อนฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองไม่ได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานแรงงานทำการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทอันเกี่ยวด้วยแรงงานนี้เสียก่อน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 30,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,183 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 45,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 9,069 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ว่ากรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับการจ้างแรงงานซึ่งต้องใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์บังคับโจทก์ชอบที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานไกล่เกลี่ยพิจารณาข้อพิพาทเสียก่อนเมื่อไม่พอใจจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น เห็นได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า”ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ จะดำเนินคดีในศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกรณีที่จะต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนแล้วจึงจะฟ้องได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติไว้เช่นนั้น เช่น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ได้มีระบุไว้ในข้อ 49 วรรคแรกว่า “ให้ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากนายจ้างต่อพนักงานเงินทดแทนแห่งท้องที่ที่นายจ้างมีสำนักงานหรือหน่วยงานตั้งอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยไม่ชักช้า” ข้อ 56 และข้อ 57 ระบุให้พนักงานเงินทดแทนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งกำหนดจำนวนเงินทดแทนหรือแจ้งแก่ผู้ยื่นคำร้องทราบว่าไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนแล้วแต่กรณีและข้อ 60 ระบุให้ผู้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนที่ไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีและหาไม่เห็นชอบกับคำสั่งของอธิบดี ก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง หรือเช่นกรณีลูกจ้างเห็นว่านายจ้างกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 121, 122, 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ก็มีบทบัญญัติมาตรา 124 บัญญัติว่า “ผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนอาจยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน” และมาตรา 125บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องเหล่านี้เป็นต้น สำหรับคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าจ้างค้างชำระและค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสองสำนวนนี้ นอกจากจะมิใช่คดีเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ดังที่จำเลยทั้งสองสำนวนกล่าวอ้างในอุทธรณ์ โดยเป็นคดีเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้วในการฟ้องเรียกค่าจ้างค้างชำระและค่าชดเชยดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามวิธีการที่กำหนดแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share