แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมหรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้โดยมิได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์ให้แจ้งชัดถึงเรื่องเงินประกันว่า เพราะเหตุใดจำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ และจำเลยก็ไม่ได้ให้การถึงระเบียบว่าด้วยเงินประกันและผู้ค้ำประกันของพนักงานดังนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันที่โจทก์วางไว้ตามระเบียบของจำเลยหรือไม่ ฉะนั้นการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันตามระเบียบของจำเลย จึงเป็นการมิชอบ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำรายเดือน และก่อนที่โจทก์จะเข้าทำงาน จำเลยได้เรียกเงินประกันค่าเสียหายจากโจทก์ จำนวน 2,000 บาท ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากงานในข้อหาว่าโจทก์ขาดงานติดต่อกันเกิน 10 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ความจริงโจทก์ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องพักรักษาตัวและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์โดยเคร่งครัด การที่โจทก์ขาดงานเกิน 10 วัน จึงมีเหตุอันสมควรคำสั่งเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,465 บาท กับค่าครองชีพอีกเดือนละ 400 บาท กำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าว ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมหากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานก็ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 17,190 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน3,342.50 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2531 เป็นเวลา 10 วัน เป็นเงิน 955 บาท และคืนเงินประกัน 2,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างเดือนละ2,460 บาท โจทก์ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2531ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2531 โดยไม่แจ้งสาเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทราบและไม่ยื่นใบลาให้ถูกต้องตามข้อบังคับ ถือว่าโจทก์มีเจตนาขาดงานและละทิ้งหน้าที่ เป็นการกระทำผิดวินัยที่ปรากฏโดยชัดแจ้งตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 จำเลยจึงเลิกจ้างดจทก์ฐานละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 10 วัน โดยไม่มีเหตุสมควร ที่ฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้นก็หารับฟังได้ไม่ เพราะโจทก์มิได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทางโทาศัพท์หรือให้ภริยาหรือเพื่อนร่วมงานมาแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบและไม่ได้ยื่นใบลาป่วยก่อนหรือในวันแรกที่มาทำงานหรือในโอกาสแรกที่สามารถยื่นใบลาได้ ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 45 ว่าด้วยการลาจำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย “โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์วางเงินจำนวน 2,000 บาท แก่จำเลยไว้ เพื่อเป็นประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่นับตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยมา โจทก์ไม่เคยก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมหรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และคืนเงินประกันแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์ขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเกินกว่า 10 วัน โดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 46 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งจำเลยมิได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยแจ้งชัดถึงเรื่องเงินประกันที่โจทก์ขอคืนว่า เพราะเหตุใดจำเลบยจึงไม่ต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์และจำเลยไม่ได้ให้การถึงระเบียบว่าด้วยเงินประกันและผู้ค้ำประกันของพนักงาน คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันที่โจทก์วางไว้ตามระเบียบของจำเลยหรือไม่ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันตามระเบียบของจำเลย จึงเป็นการมิชอบ เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันหรือไม่ จำเลยก็ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างตามฟ้อง…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน 2,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.