คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้เท้าเตะโจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงกระดูดแขนหัก เป็นการทำร้ายร่างกายที่เข้าลักษณะร้ายแรงเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาต่อเนื่องกันตลอดมา โจทก์เพิ่งรู้การกระทำของจำเลยที่ 1ที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 ก่อนฟ้องยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิฟ้องหย่าจึงยังไม่ระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคแรก โจทก์มิได้ฟ้องหย่าเพราะเหตุไม่อาจทนอยู่กับจำเลยที่ 1เนื่องจากเหตุทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ตามมาตรา 1524 ระหว่างอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และสำหรับเรื่องเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน ทั้งโจทก์ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ฟังไม่ได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลงในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 เงินบริจาคที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นค่าตอบแทนการรับทรงเจ้าเป็นเงินรายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสเมื่อจำเลยที่ 1 นำไปซื้อที่ดินและปลูกอาคาร ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยืนสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น จึงไม่จำต้องสั่งให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามที่โจทก์ขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์อย่างร้ายแรง กล่าวคือ เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2523ขณะที่โจทก์ยังอยู่กินกับจำเลยที่ 1 พร้อมบุตรรวม 9 คน จำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ถึงแขนหัก สาเหตุเนื่องจากโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 กำลังจะมีสัมพันธ์ด้านชู้สาวกับจำเลยที่ 2ผลจากการทำร้ายร่างกายดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่สามารถทนอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป ต้องออกจากบ้านไปอยู่กับน้องสาวในเดือนกรกฎาคม 2523 และภายหลังได้ย้ายมาอยู่กับบุตรคนหนึ่งที่ออกมาเช่าบ้านอยู่เองจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อเดือนมิถุนายน2524 จำเลยที่ 1 ได้ย้ายจากบ้านเดิมไป ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2525 โจทก์จึงทราบแน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา โดยบุตรหลายคนที่อยู่กับจำเลยที่ 1 ยืนยันกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้นำจำเลยที่ 2เข้ามากินอยู่หลับนอนฉันภริยาในบ้าน การกระทำของจำเลยที่ 1ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ต่อไป โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือนัดจำเลยที่ 1ไปจดทะเบียนหย่า จำเลยที่ 1 รับหนังสือแล้ว แต่ไม่ไปจดทะเบียนหย่า จึงขอให้บังคับจำเลยตามคำขอดังต่อไปนี้1. ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา 2. ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 จำนวน 300,000 บาท 3. ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1524 จำนวน 93,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปทุกเดือนจนกว่าจะไปจดทะเบียนหย่า 4. ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องตลอดไปทุกเดือนเป็นระยะเวลา 10 ปี 5. เนื่องจากโจทก์ยังมีบุตรผู้เยาว์ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูอีก 4 คน คือนางสาววิลาวรรณ แซ่อือ อายุ 19 ปี 9 เดือน นางสาวนิตยา แซ่อืออายุ 16 ปี เด็กหญิงกรรณิการ์ แซ่อือ อายุ 14 ปี 9 เดือนและเด็กชายเสกสรร แซ่อือ อายุ 9 ปี 2 เดือน ส่วนบุตรคนอื่นอีก 5 คน บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ประสงค์ที่จะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ขอให้สั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตกอยู่แก่โจทก์แต่ผู้เดียว และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทุกคนให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาทต่อคนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรแต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะ 6. ขอให้แบ่งสินสมรสได้แก่ที่ดินโฉนดที่ 9143 เนื้อที่ประมาณ 140 ตารางวาพร้อมบ้านเลขที่ 548/83 ซอยวัดไผ่เงิน แขวงบางโคล่ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร โดยให้โจทก์ลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมและสังหาริมทรัพย์ในบ้านดังกล่าวรวมราคาประมาณ 100,000 บาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หรือมิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,050,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์ได้ออกไปจากบ้านที่อยู่กินตามฟ้องซึ่งมิใช่เพราะเกิดจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะโจทก์จงใจทิ้งร้าง จำเลยที่ 1 มิได้ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาก็เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงบุตร โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย โจทก์จึงมีส่วนรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วยครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ดินโฉนดที่ 9143พร้อมบ้านเลขที่ 548/83 ตามฟ้อง มิใช่เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1กับโจทก์ แต่เป็นทรัพย์สินของศาลเจ้าเทียนซุ่นตั๊ว จำเลยที่ 1เป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนศาลเจ้าและผู้ที่ออกเงินร่วมกันซื้อไว้ ระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยาจำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดที่ 17533 ตำบลบางโคล่ (บ้านทวาย)อำเภอยานนาวา (บางรัก) จังหวัดพระนคร โดยให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ต่อมาได้ปลูกอาคารเลขที่544/89 บนที่ดินดังกล่าว ที่ดินและอาคารรวมทั้งเครื่องตกแต่งมีราคากว่า 200,000 บาท และโจทก์ยังครอบครองเข็มขัดนาก 1 เส้นกับทองคำหนัก 7 บาท รวมราคา 85,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้องและบังคับตามฟ้องแย้งดังนี้1. ให้ศาลพิพากษาว่าการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เนื่องจากเหตุที่โจทก์จงใจทิ้งร้างจำเลยที่ 1เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี 2. ให้โจทก์แบ่งทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 142,500 บาท3. ให้จำเลยที่ 1 ได้รับค่าทดแทนจากโจทก์ซึ่งต้องรับผิดต่อเหตุแห่งการหย่าเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท 4. ให้โจทก์ร่วมรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้ง 4 คน เท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับการยกย่องจากจำเลยที่ 1 ฉันภริยา และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นสามีภริยากัน ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกร้องเป็นจำนวนสูงเกินไป หากจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 เพราะเหตุหย่าตามฟ้องได้ระงับไปแล้ว เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งยกขึ้นว่าดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดที่ 17533 ตึกแถวเลขที่ 544/89 เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ซึ่งได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1แม้จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ได้มาในฐานะหุ้นส่วน เพราะโจทก์มิได้เอาเงินที่หาได้จากการอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไปซื้อ แต่โจทก์เอาเงินที่ได้จากการขายทรัพย์บางอย่างของโจทก์ซึ่งมีอยู่ก่อนที่จะอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไปซื้อโดยขายทรัพย์นั้นก่อนซื้อทรัพย์สินดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน ส่วนสาเหตุที่โจทก์ต้องออกไปจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 นั้น มิใช่เป็นเพราะโจทก์จงใจจะทิ้งร้างจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ไม่อาจทนได้ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์จนถึงแขนหักตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องแล้ว จำเลยที่ 1 จึงอ้างข้อนี้เป็นเหตุหย่ามิได้ จำเลยที่ 1 มิได้ออกค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้ง 4 คน ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามปกติโจทก์เป็นผู้ออกเอง เข็มขัดนาก 1 เส้น และทองคำหนัก 7 บาทนั้นเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เพราะเป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัวหรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ อีกทั้งโจทก์ได้มาระหว่างสมรสโดยมีผู้ให้โดยเสน่หา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่ฟ้องแย้ง ทั้งไม่มีสิทธิขอหย่ากับโจทก์และเรียกค่าทดแทนจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท และไม่มีสิทธิให้โจทก์ออกเงินอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้ง 4 คน เท่ากับจำนวนที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระ เพราะโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามปกติอยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทกับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 93,000 บาทและนัดถัดจากวันฟ้อง (1 กุมภาพันธ์ 2526) ตลอดไปทุกเดือน(เดือนละ 3,000) จนกว่าจะจดทะเบียนหย่า กับให้จำเลยที่ 1จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (1 กุมภาพันธ์ 2526) เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะทำการสมรสใหม่ แต่ไม่เกิน 10 ปี ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดที่ 9143 แขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครและบ้านเลขที่ 548/83 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งหากจำเลยที่ 1 ไม่จัดการดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนหรือให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินจำนวน1,000,000 บาท แทน และให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาสินสมรสที่เป็นสังหาริมทรัพย์แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท กับให้โจทก์แบ่งสิทธิในที่ดินโฉนดที่ 17533 ตำบลบางโคล่ (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา(บางรัก) จังหวัดพระนคร พร้อมบ้านเลขที่ 544/89 บนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง โดยชำระเป็นเงิน 100,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ของโจทก์และของจำเลยให้ยก โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์แบ่งเงินค่าทองและเข็มขัดนากครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 42,500 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้อยู่กินเป็นสามีภริยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 จึงได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน9 คน ทั้งสองมีเหตุแตกร้าวกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ระหว่างอยู่กินกันที่บ้านเลขที่ 820 ซอยวัดไผ่เงิน แขวงบางโคล่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร อันมีมูลเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ออกจากบ้านที่อยู่กินกับจำเลยที่ 1 หลังจากได้ถูกจำเลยที่ 1ทำร้ายร่างกายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2523 โดยไม่กลับมาอยู่กินกับจำเลยที่ 1 อีกนับแต่นั้น คดีมีประเด็นวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาถึงเหตุฟ้องหย่าตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่ารับฟังได้หรือไม่และเหตุฟ้องหย่าขาดอายุความแล้วหรือไม่ สำหรับเหตุฟ้องหย่าข้อแรกที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์นั้น พยานโจทก์มีนางสาวซกลั้งบุตรคนโตของโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้เท้าเตะโจทก์ได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้าย นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาวสมเจตน์น้องโจทก์ผู้ให้โจทก์พักอาศัยอยู่ด้วยเบิกความว่า ในเดือนกรกฎาคม 2523 ที่โจทก์กับนางสาวซกลั้งมาขออยู่อาศัย โจทก์มีเหล็กดามที่แขนซ้ายเนื่องจากถูกจำเลยที่ 1 ทำร้าย เห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่า โจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 1 ใช้เท้าเตะได้รับบาดเจ็บถึงกระดูกแขนหัก ตามคำเบิกความของนายแพทย์เทอดศักดิ์ ปรมกุลพยานโจทก์ประกอบใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.2 อันเป็นการทำร้ายร่างกายที่เข้าลักษณะเป็นการร้ายแรงและเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) ข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ว่า อาการบาดเจ็บของโจทก์เกิดจากการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายทำร้ายจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุนั้น ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง ส่วนเหตุฟ้องหย่าที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยานั้นโจทก์มีนางสาววิลาวรรณ นางสาวกรรณิการ์และเด็กชายเสกสรรบุตรทั้งสามของโจทก์ ซึ่งพักอยู่กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบิดาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้นำจำเลยที่ 2 มาอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 548/83 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2525 ทั้งจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้พยานโจทก์ทั้งสามเรียกจำเลยที่ 2 ว่าแม่เห็นว่า หากจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการดังกล่าวแล้ว พยานโจทก์ทั้งสามคงจะไม่เบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของตนเช่นนั้น พยานโจทก์จึงมีน้ำหนัก ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยกย่องจำเลยที่ 2 เป็นภริยาตามที่โจทก์กล่าวอ้าง อันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) ข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาสิทธิฟ้องร้องในเหตุฟ้องหย่าทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ตามคำให้การจำเลยทั้งสองคงยกอายุความขึ้นต่อสู้เฉพาะเหตุฟ้องหย่าประการหลัง ส่วนเหตุฟ้องหย่าประการแรกมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ จึงไม่รับวินิจฉัยสำหรับปัญหานี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาต่อเนื่องกันตลอดมาโจทก์เพิ่งรู้การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2เมื่อเดือนกรกฎาคม 2525 ซึ่งเป็นเวลาก่อนฟ้องร้องคดียังไม่ล่วงพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิฟ้องร้องคดีของโจทก์โดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าข้อนี้จึงยังไม่ระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 วรรคแรก ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านว่าสมควรให้โจทก์ได้รับเพียงใดนั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำนวน200,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1),1523 ให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน ๆ ละ3,000 บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม 2523 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน93,000 บาท และนับถัดจากวันฟ้องไปทุกเดือนในอัตราเดือนละ3,000 บาท จนกว่าจะจดทะเบียนหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3), 1524 และให้โจทก์ได้รับค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าโจทก์จะทำการสมรสใหม่ แต่ไม่เกิน 10 ปี เพราะเหตุการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 เห็นว่า สำหรับค่าทดแทนที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1), 1523 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาและศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนส่วนนี้เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาค่าทดแทนที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3), 1524นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบคงได้ความว่า จำเลยที่ 1ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ครั้งเดียว ประกอบกับโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่มีภริยาใหม่ โจทก์ก็ไม่ประสงค์ที่จะหย่ากับจำเลยที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับการที่โจทก์ฟ้องหย่าจากเกิดเหตุครั้งแรกเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องหย่าเพราะไม่อาจทนอยู่กับจำเลยที่ 1เนื่องจากเหตุทำร้ายร่างกายในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนปัญหาค่าเลี้ยงชีพที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ระหว่างอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และสำหรับเรื่องเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเกี่ยวข้องกันทั้งโจทก์ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลงในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ได้รับค่าเลี้ยงชีพโดยเหตุดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 1ในข้อฟังขึ้น
สำหรับฎีกาจำเลยที่ 1 ในประการสุดท้ายเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9143 และบ้านเลขที่ 548/83 ว่ามิใช่เป็นสินสมรส แต่เป็นของผู้บริจาคเงินเพื่อใช้เป็นศาลเจ้า จำเลยที่ 1 เป็นแต่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้กระทำการแทนนั้น เห็นว่าเงินบริจาคที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1รับทรงเจ้าให้แก่ผู้ที่มาขอให้ทรงเจ้า ซึ่งเป็นเงินรายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำไปซื้อที่ดินและปลูกอาคาร ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง ส่วนทรัพย์สินในบ้านที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่ามีราคา 100,000 บาทตามที่โจทก์นำสืบนั้น เห็นว่า เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้น เห็นว่า การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น จึงไม่จำต้องสั่งคำขอข้อนี้ของโจทก์สมควรแก้ไขเสีย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ในการจดทะเบียนหย่า กับให้ยกคำขอค่าทดแทนในเหตุที่ฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดเหตุหย่าขึ้น โดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้จึงต้องฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1524 และให้ยกคำขอค่าเลี้ยงชีพ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share