แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ก่อนส่งหมายเรียกโจทก์และภรรยากับบุตรมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 261/6-8 ตลอดมา โดยโจทก์มีสถานภาพเป็นหัวหน้าโจทก์และครอบครัวแจ้งย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่บ้านเลขที่ 496/8-9หลังจากมีการส่งหมายเรียกเกือบ 1 ปี การส่งหมายเรียกให้โจทก์ณ บ้านเลขที่ 261/6-8 ถือว่าเป็นการส่งให้โจทก์ ณ บ้านของผู้รับเมื่อผู้ที่บรรลุนิติภาวะ และอยู่ในบ้านนั้นรับหมายไว้แทนโจทก์จึงเป็นการส่งหมายที่ชอบแล้ว โจทก์ซื้อที่ดินเนื้อที่รวมประมาณ 30 ไร่ อ้างว่าจะทำสวนกล้วยไม้ เป็นการกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นมาประกอบข้ออ้างดังกล่าวนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่าต้องขายที่เพื่อชำระหนี้ธนาคารนั้น ลูกหนี้ธนาคารมิใช่ตัวโจทก์และธนาคารก็มิได้ฟ้องเร่งรัดหนี้ ทั้งที่ดินที่ขายก็มิได้ติดจำนองธนาคารโจทก์ขายที่ดินภายหลังจากซื้อมาในระยะเวลาอันสั้น ส่อแสดงว่าโจทก์ขายที่ดินโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1185 และ102780 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มาในราคา3,649,000 บาท เพื่อทำสวนกล้วยไม้ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศแต่ปรากฏว่าตลาดกล้วยไม้ในต่างประเทศซบเซาโจทก์จึงต้องระงับโครงการทำสวนกล้วยไม้ไว้ก่อนในระยะนั้นโจทก์ตั้งบริษัทประสพลาภจำกัด เพื่อสร้างโรงโม่หินขนาดใหญ่แต่เงินทุนไม่พอ โจทก์จึงกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทยมาลงทุนโดยนำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไปเป็นประกันโดยโจทก์ลงชื่อมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเป็นผู้ไปดำเนินการจดทะเบียนจำนอง ต่อมาปี 2523 บริษัทประสพลาภ จำกัดขาดทุนและเป็นหนี้ธนาคารประมาณ 8,000,000 บาท ธนาคารเร่งรัดมายังโจทก์ให้ชำระหนี้มิฉะนั้นจะฟ้องร้อง โจทก์จึงขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นเงิน 6,000,000 บาท แล้วนำเงินไปชำระหนี้ธนาคารเมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2523โจทก์มิได้กรอกเงินได้จำนวน 6,000,000 บาทนี้ไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ เพราะเข้าใจว่าไม่ต้องกรอกเนื่องจากโจทก์มิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ต่อมาปี 2525 มีแถลงการณ์กระทรวงการคลังให้โอกาสผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรไปกรอกแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ให้ครบถ้วนในเวลาที่กำหนดแล้วจะพ้นความรับผิดทั้งปวง โจทก์จึงกรอกแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจแล้วแจ้งว่า”ไม่มีเงินเรียกเก็บ” ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินในสังกัดของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2523 เป็นเงิน 1,630,648 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ลดเงินเพิ่มลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย ซึ่งมีผลให้ค่าภาษีลดลงเหลือ1,494,761.51 บาท การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะการขายที่ดินของโจทก์มิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงไม่ต้องนำเงินได้ในส่วนนี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และโจทก์ได้กรอกเงินได้จำนวนนี้ในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยื่นต่อจำเลยที่ 1 ภายในเวลาตามแถลงการณ์กระทรวงการคลังแล้ว จึงพ้นความรับผิดทั้งปวงนอกจากนี้การประเมินภาษีโจทก์ดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินจะต้องออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร แต่โจทก์ไม่เคยได้รับหมายเรียกและเจ้าพนักงานประเมินไม่เคยไต่สวนหรือตรวจสอบก่อนการประเมินจึงไม่ชอบทั้งได้แจ้งการประเมินไปยังบ้านเลขที่ 261/6-8 แขวงรองเมืองเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของหลานชายโจทก์และขณะนั้นโจทก์ป่วยหนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี การแจ้งการประเมินจึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้เลขที่ 1041/1/23405 ลงวันที่ 20 กันยายน 2528 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 17/2532/1 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2531
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ตรวจวิเคราะห์แบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2523 ของโจทก์แล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วน จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19, 23, 87 ตรี และ 123 แห่งประมวลรัษฎากร ออกหมายเรียกให้โจทก์ไปพบเพื่อตรวจสอบไต่สวนโดยให้เจ้าพนักงานเดินหมายของจำเลยที่ 1 นำหมายไปส่งที่บ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านของโจทก์และบุคคลในบ้านดังกล่าวเป็นผู้รับหมายเรียกจึงเป็นการส่งหมายเรียกโดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ไปพบเจ้าพนักงานตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินจึงพิจารณาตามหลักฐานโดยพิจารณาเห็นว่าเมื่อปี 2521โจทก์ซื้อที่ดิน 2 แปลงตามฟ้อง เนื้อที่รวม 30 ไร่เศษ ราคา3,550,000 บาท แล้วขายไปในปี 2523 ราคา 6,000,000 บาทโจทก์ถือครองที่ดินเพียง 2 ปี โดยไม่มีการปรับปรุงหรือทำประโยชน์ในที่ดินแต่ประการใดจึงเชื่อว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การขายที่ดินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือได้รับยกเว้นตามประกาศคำชี้แจงกรมสรรพากรฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์2525 การประเมินจึงชอบแล้ว เจ้าพนักงานเดินหมายของจำเลยที่ 1 นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ไปส่งให้โจทก์ ณ บ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ของโจทก์ตามทะเบียนบ้าน และบุคคลในบ้านนั้นรับหนังสือไว้แทนโจทก์ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินนั้นน่าเชื่อว่าโจทก์เพิ่งทราบการประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงถือว่าโจทก์อุทธรณ์ภายในกำหนดและเห็นว่าโจทก์ได้ยื่นขอยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายที่ดินตามแถลงการณ์กระทรวงการคลัง พ.ศ.2525 ทั้งให้ความร่วมมือด้วยดีในชั้นพิจารณาอุทธรณ์จึงลดเงินเพิ่มให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมายการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนก่อนประเมินโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีนายสมมาตร สังขะทรัพย์ สรรพากรเขตพื้นที่ 3 กรุงเทพมหานครและนายธานี วิราวรรณวัฒน์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 4 เบิกความว่าได้ออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 ตามเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 34 แล้วให้นายศุภร สุทธิยุทธ์ นำไปส่งให้โจทก์ที่บ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร นายศุภร เบิกความว่า ส่งหมายเรียกเมื่อวันที่ 4มีนาคม 2528 นายไพบูลย์ วิริยะวัฒน์ ซึ่งอยู่ที่บ้านดังกล่าวและบรรลุนิติภาวะแล้วรับหมายเรียกไว้แทนโจทก์ ปรากฏตามใบรับหมายเรียกเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 33 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรโดยชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าต้องส่งหมายเรียกไปที่บ้านเลขที่ 496/8-9 ถนนเพชรบุรีแขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของโจทก์และโจทก์ได้ระบุไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เห็นว่า ก่อนส่งหมายเรียกโจทก์และภริยากับบุตรอีก 5 คน มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมือง แขวงรองเมืองเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตลอดมาโดยโจทก์มีสถานภาพเป็นหัวหน้าโจทก์และครอบครัวแจ้งย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่บ้านเลขที่ 496/8-9ถนนเพชรบุรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2529 หลังจากมีการส่งหมายเรียกเกือบ 1 ปี โจทก์เองก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์เคยอยู่ที่บ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมือง เหตุที่โจทก์ย้ายไปอยู่บ้านเลขที่ 496/8-9 ถนนเพชรบุรี แล้วโจทก์ยังไม่ย้ายทะเบียนบ้านไปด้วยเพราะนายอำเภอปทุมวันขอร้องไม่ให้ย้ายเนื่องจากต้องการให้โจทก์ช่วยเหลือเกี่ยวกับงานสังคมส่วนรวมของอำเภอปทุมวัน จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ยังคงใช้บ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมือง เป็นที่อยู่ของโจทก์มิฉะนั้นนายอำเภอปทุมวันคงจะไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากโจทก์จนกระทั่งโจทก์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้การส่งหมายเรียกให้โจทก์ ณ บ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมืองจึงถือได้ว่าเป็นการส่งไปให้โจทก์ ณ บ้านของผู้รับ ตามความหมายของมาตรา 8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเมื่อผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ในบ้านนั้นรับไว้แทนโจทก์จึงเป็นการส่งที่ชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อที่สองว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินให้โจทก์โดยชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายศุภรได้นำหนังสือแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8ไปส่งให้โจทก์ที่บ้านเลขที่ 261/6-8 ถนนจารุเมือง แขวงรองเมืองเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและถือว่าเป็นบ้านของโจทก์ เมื่อนายสมศักดิ์ ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งน่าเชื่อตามทางนำสืบของจำเลยว่าอยู่ในบ้านดังกล่าวและบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นผู้รับไว้แทนโจทก์ตามใบรับหนังสือแจ้งภาษีอากรเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 7 จึงเป็นการส่งแบบแจ้งการประเมินให้โจทก์โดยชอบแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า การประเมินของจำเลยที่ 1และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1185และ 102780 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อปี2523 ในราคา 6,000,000 บาท โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรจึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นั้น เห็นว่า โจทก์มีอาชีพทำโรงโม่หินไม่มีความรู้ด้านทำสวนกล้วยไม้เลย ส่วนผู้ที่จะร่วมทุนทำสวนกล้วยไม้เพื่อตัดดอกส่งขายต่างประเทศด้วยคือ นาวาเอกแสวงบุญยัง กับ พันเอกกระจ่าง ธรรมรักษา ต่างเบิกความว่า พยานทั้งสองได้เลิกอาชีพทำสวนกล้วยไม้เพื่อขายดอกเพราะตลาดดอกกล้วยไม้ซบเซาก่อนที่โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลง และการร่วมลงทุนก็ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจะลงทุนกันอย่างไร คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเพื่อนโจทก์โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบเพียงแต่มีคำเบิกความเท่านั้นจึงเลื่อนลอย ข้ออ้างของโจทก์ว่าโจทก์ซื้อที่ดินเพื่อจะทำสวนกล้วยไม้จึงไม่น่าเชื่อ โจทก์ซื้อที่ดินตามโฉนดดังกล่าว 2 แปลงติดกันรวมเนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวาซึ่งเป็นที่ดินจำนวนมากเกินกว่าจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยและขายที่ดินไปตามสภาพทุ่งนาเดิม ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในที่ดิน หลังจากซื้อที่ดินไม่ถึง 2 ปี กล่าวคือ โจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน2521 ขายไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2523 เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ขายที่ดินที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จำเป็นต้องขายที่ดินเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ธนาคารนั้น เห็นว่า ลูกหนี้ธนาคารมิใช่ตัวโจทก์แต่เป็นบริษัทประสพลาภ จำกัด และธนาคารเจ้าหนี้มิได้ฟ้องร้องเร่งรัดให้ลูกหนี้ชำระหนี้แต่อย่างใด ทั้งที่ดินที่ขายก็มิได้ติดจำนองธนาคารเจ้าหนี้ ข้ออ้างความจำเป็นในการขายที่ดินจึงฟังไม่ขึ้นคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ การประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.