แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดค่ารายปีของโรงเรือนและที่ดินของโจทก์โดยเทียบกับค่ารายปีของโรงเรือนและที่ดินของบริษัท บ. และของบริษัท ป.มาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีในปีพิพาทนี้ด้วยนั้นเมื่อปรากฏว่าโรงเรือนและที่ดินของบริษัท บ. และบริษัท ป. อยู่ติดถนนใหญ่ทำเลและการคมนาคมสะดวกกว่าโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ แม้ค่ารายปีของโจทก์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดจะต่ำกว่าค่ารายปีของบริษัท บ.ก็ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบว่าค่ารายปีของโจทก์เป็นค่ารายปีที่สมควรหรือไม่ แม้ค่ารายปีที่โจทก์นำมาเป็นหลักในการคำนวณนี้ จะมิใช่ เป็นค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ดังที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 กำหนดให้นำมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้เพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากปีดังกล่าวมาถึงปีพิพาทนี้ และเป็นค่ารายปีที่ยุติแล้ว ส่วนค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีนั้นเป็นค่ารายปีที่โจทก์ยังไม่พอใจ โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่อยู่ จึงเป็นค่ารายปีที่ยังไม่ยุติไม่อาจนำมาเป็นหลักในการคำนวณภาษีที่จะต้องเสียในปีพิพาทนี้ได้ ดังนี้ค่ารายปีที่โจทก์นำมาเป็นหลักในการคำนวณจึงเป็น ค่ารายปีที่สมควรกว่า แม้เครื่องจักรจะมีไว้เพื่อซ่อมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้ามิใช่มีไว้เพื่อผลิตสินค้า แต่ก็เป็นเครื่องจักรที่ติดตั้งไว้ในโรงเรือนยากที่จะขนย้ายได้ ต้องถอดออกเป็น ชิ้นจึงจะขนย้ายได้ เป็นการติดตั้งไว้ในลักษณะถาวรมีลักษณะเป็นส่วนควบที่สำคัญของโรงเรือน จึงเป็นเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆต้องลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาตรา 13 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเพียงผู้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินของโจทก์ซึ่งเป็นการกระทำตามหน้าที่เท่านั้น มิได้ร่วมรับชำระเงินค่าภาษีด้วย จึงไม่ต้องร่วมคืนเงินค่าภาษีโรงเรือน และที่ดินแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2531 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้กำหนดค่ารายปีและประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์รวม 18 รายการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวโดยกำหนดค่ารายปีเป็นเงิน 20,720,352 บาท ค่าภาษี 1,189,500 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์เห็นว่า จำเลยทั้งสองคำนวณค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2ดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน559,070.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้กำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนของโจทก์ประจำปีภาษี 2531 ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2531 ของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งรายการประเมิน ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2531 และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2ตามใบแจ้งคำชี้ขาด ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2533 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 122,051.09 บาทให้โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ในต้นเงิน 122,051.09 บาทนับจากวันครบกำหนด 3 เดือนดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวนที่ต้องคืนให้โจทก์เสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้กำหนดค่ารายปีโดยเทียบกับค่ารายปีของโรงเรือนและที่ดินของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และโดยนำเอาค่ารายปีของโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องของปี 2530 อันเป็นปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีในปีพิพาทนี้ด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโรงเรือนและที่ดินของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ด้านหนึ่งอยู่ติดถนนสามเสนอันเป็นถนนใหญ่ อีกด้านหนึ่งติดแม่น้ำเจ้าพระยาทำเลและการคมนาคมสะดวกกว่าโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นคนละเขตกันและมิได้ติดถนน โดยอยู่ห่างจากถนนปูนซิเมนต์ไทยหลายสิบเมตร การเข้าออกสู่ถนนจะต้องผ่านที่ดินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ทั้งเป็นกิจการคนละประเภทกันการใช้ประโยชน์จากโรงเรือนที่ต่างประเภทกัน แม้ค่ารายปีของโจทก์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดจะต่ำกว่าค่ารายปีของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก็ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบว่าค่ารายปีของโจทก์เป็นค่ารายปีที่สมควรหรือไม่ ส่วนโรงเรือนและที่ดินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็อยู่ติดถนนใหญ่ทำเลดีกว่าของโจทก์ซึ่งต้องอาศัยที่ดินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เข้าออกสู่ถนนดังกล่าวข้างต้น แม้ตึกที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ให้โจทก์เช่าจะคิดค่าเช่าตารางเมตรละ 100 บาท ต่อเดือนสูงกว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด แต่ค่าเช่าดังกล่าวหาใช่เป็นค่าเช่าเฉพาะสถานที่ไม่ เป็นการคิดค่าเช่าที่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายของเครื่องใช้ในสำนักงาน และค่ารักษาความปลอดภัยด้วย จึงไม่อาจนำไปเทียบกับค่ารายปีของโจทก์ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ในการเปรียบเทียบ
แม้ค่ารายปีของปี 2522, 2527, 2529 ที่โจทก์นำมาเป็นหลักในการคำนวณโดยเพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพ จะมิใช่เป็นค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ดังที่ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 กำหนดให้นำมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้เพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากปีดังกล่าวมาถึงปีพิพาทนี้ โดยค่ารายปีที่โจทก์นำมาเป็นหลักในการคำนวณนี้เป็นค่ารายปีที่ยุติ ส่วนค่ารายปีในปีต่อ ๆ มายังไม่ยุติเพราะโจทก์และจำเลยยังมีข้อพิพาทกันอยู่ จึงน่าเชื่อถือและสมควร ส่วนค่ารายปีของโรงเรือนและที่ดินกลุ่มที่ 4 รายการที่ 10, 11, 12, 15 (ส่วนแรก), กลุ่มที่ 5 รายการที่ 14 และกลุ่มที่ 6 รายการที่ 15 (ส่วนที่สอง) ที่โจทก์คำนวณค่าภาษีโดยเพิ่มค่ารายปีของปี 2527 และ 2522 ตามภาวะค่าครองชีพนั้น เนื่องจากโรงเรือนและที่ดินตามรายการที่ 10, 11, 12, 14, 15 (ทั้งสองส่วน) มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4499/2532 วินิจฉัยไว้ว่าค่ารายปีของปี 2529 สำหรับโรงเรือนและที่ดิน 5 รายการดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ชอบแล้ว การนำค่ารายปีของปี 2529 ซึ่งยุติแล้วนี้มาคำนวณโดยเพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพสำหรับปีพิพาทนี้ จึงได้ค่ารายปีสมควร ที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่ารายปีของปี 2530 อันเป็นปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีพิพาทนี้ด้วยนั้น เนื่องจากค่ารายปีของปี 2530 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้กำหนดนี้โจทก์ยังไม่พอใจโดยได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่อยู่จึงเป็นค่ารายปีที่ยังไม่ยุติ ไม่อาจนำมาเป็นหลักในการคำนวณภาษีที่จะต้องเสียในปีพิพาทนี้ได้ ค่ารายปีของปีพิพาทที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดนี้ฟังไม่ได้ว่าคำนวณมาจากจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่า แต่ค่ารายปีตามที่โจทก์นำสืบเป็นค่ารายปีที่สมควรกว่า การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงมิชอบ
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เครื่องจักรที่ติดตั้งไว้ในโรงเรือนรายการที่ 9 มิใช่มีไว้เพื่อผลิตสินค้า แต่มีไว้สำหรับซ่อมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าสามารถขนย้ายได้ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 นั้น เห็นว่า แม้เครื่องจักรนี้จะมีไว้เพื่อซ่อมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าแต่ก็เป็นเครื่องจักรที่ติดตั้งไว้ในโรงเรือน ยากที่จะขนย้ายต้องถอดออกเป็นชิ้นจึงขนย้ายได้ เป็นการติดตั้งไว้ในลักษณะถาวรมีลักษณะเป็นส่วนควบที่สำคัญของโรงเรือน จึงเป็นเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ต้องลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 13
ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์ด้วยนั้น จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ซึ่งเป็นการกระทำตามหน้าที่เท่านั้น มิได้ร่วมรับชำระเงินค่าภาษีด้วยแต่อย่างไรคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบสมควรแก้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 272,792.17 บาทแก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่ที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่คืนในกำหนดให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันพ้นกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินให้แก่โจทก์เสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง