แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน ซึ่งออกทับที่สาธารณประโยชน์นั้น เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หาใช่เป็นการใช้สิทธิอันมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไม่ เอกสารที่จำเลยยื่นต่อศาลเพื่อส่งสำเนาให้แก่โจทก์ เป็นพยานที่เกี่ยวกับประเด็นอันสำคัญในคดี แม้จะยังมิได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เพราะความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่ศาล แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(มาตรา 87(2))
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมในกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2512 พนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดิน จำเลยได้ออกโฉนดเลขที่ 9915ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1 ไร่ 39 ตารางวาให้แก่หลวงจำนงนรินทรรักษ์ ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2514หลวงจำนงนรินทร์ขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โจทก์ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวนี้ตลอดมา จนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน2525 โจทก์ได้รับหนังสือของสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีที่พ.บ.15/3/9398 แจ้งว่าจำเลยมีคำสั่งที่ 914/2525 ลงวันที่8 กรกฎาคม 2525 เพิกถอนโฉนดเลขที่ 9915 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนมาจากหลวงจำนงนรินทรรักษ์โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน ทั้งได้อาศัยที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและจำเลย รับรองการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จนโจทก์เชื่อโดยสนิทใจและสุจริตว่าโจทก์จะได้สิทธิในที่ดินดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน1,097,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า อธิบดีกรมที่ดินจำเลยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินรวมทั้งมีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยไม่บรรยายอ้างเหตุให้แจ้งชัดว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยได้ตรวจสอบเขตตามที่ผู้ขอนำชี้ โดยที่ผู้ขอ(หลวงจำนงนรินทรรักษ์) มีเจตนาทุจริต ได้นำชี้แนวเขตเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ขอได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อเจ้าพนักงานรังวัดและออกประกาศแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้านจึงออกโฉนดให้ไป การออกโฉนดที่ดินให้แก่หลวงจำนงนรินทรรักษ์ดังกล่าว จำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบราชการอันถือได้ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแล้ว จะถือว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยทราบว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9915 ทับที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวจริง การออกโฉนดดังกล่าวจึงไม่ชอบ ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2525 อธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่งกรมที่ดินที่ 914/2525 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 9915ดังกล่าว ที่ออกให้แก่หลวงจำนงนรินทรรักษ์เมื่อวันที่ 11กันยายน 2512 โดยขณะเพิกถอนมีชื่อของนายลออง วงษ์สันต์โจทก์ผู้ถือกรรมสิทธิ์เสีย ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์แม้จะได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 9915 ดังกล่าวโดยสุจริตและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์เพราะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กรมที่ดินต้องรับผิดชอบ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามทางนำสืบว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินตามโฉนดพิพาทเลขที่ 9915ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่1 ไร่ 39 ตารางวา จากหลวงจำนงนรินทรรักษ์ ต่อมาปรากฏว่าโฉนดฉบับนี้ออกทับที่สาธารณประโยชน์ จำเลยจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยถือว่าการเพิกถอนโฉนดฉบับดังกล่าวเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงยังฟังได้ต่อไปว่าเมื่อตอนหลวงจำนงนรินทรรักษ์ขอให้ทางราชการออกโฉนดที่แปลงนี้จำเลยได้ดำเนินการให้ตามคำร้องและหลังจากนายประพนธ์ จงกลเจ้าพนักงานของจำเลยได้ออกไปทำการรังวัดเสร็จ ขณะนำกลับมาลงระวางแผนที่ ปรากฏว่าที่แปลงนี้ทับลวดลาย ซึ่งในระวางระบุว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทางจำเลยจึงมีหนังสือสอบถามไปยังนายอำเภอชะอำซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตท้องที่ของตนและได้รับตอบยืนยันกลับมาว่าที่ดินดังกล่าวตามที่หลวงจำนงนรินทรรักษ์นำชี้เพื่อให้ออกโฉนดนั้นมิได้ทับที่สาธารณประโยชน์ เมื่อเป็นดังนี้ทางจำเลยจึงได้ออกโฉนดฉบับพิพาทให้ไป จากข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าในชั้นแรกเมื่อมีการออกโฉนด จำเลยก็ได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนมิได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใด เมื่อโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากหลวงจำนงนรินรรักษ์ต่อมา ความจึงมาปรากฏในภายหลังจากการที่ราษฎรร้องเรียนว่าโฉนดฉบับพิพาทออกทับที่สาธารณประโยชน์จนทางราชการต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนและปรากฏหลักฐานเป็นจริงตามที่มีผู้ร้องเรียน จำเลยจึงจำต้องใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดฉบับนี้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายมอบหมายให้ ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมจึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิอันมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอันถือเป็นการทำละเมิดดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างเพื่อขอให้จำเลยต้องรับผิดในกรณีเช่นนี้ได้ ส่วนปัญหาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์สมควรมีสิทธิเรียกร้องเอากับผู้ใดนั้น มิใช่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีนี้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้นำสำเนาเอกสารที่จำเลยยื่นไว้ต่อศาลให้โจทก์ตรวจดูตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90พยานเอกสารดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า เอกสารที่จำเลยยื่นต่อศาลดังกล่าวเป็นพยานที่เกี่ยวกับประเด็นอันสำคัญในคดีแม้จำเลยจะยังมิได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า3 วัน เพราะความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่ศาล เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ทั้งปรากฏว่าจำเลยไม่ยื่นสำเนาเอกสารต่าง ๆ ต่อศาลเพื่อส่งให้โจทก์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2526 ก่อนวันเริ่มสืบพยานนัดแรกคือวันที่15 กันยายน 2526 เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน โจทก์มีโอกาสตรวจดูและขอรับสำเนาเอกสารก่อนวันสืบพยานได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว”
พิพากษายืน