แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำงานเป็นพนักงานต้อน รับบนขบวนรถไฟดีเซลราง เริ่มเข้าทำงานก่อนที่ขบวนรถจะออก 1 ชั่วโมง และทำงานอยู่บนขบวนรถตลอดทางจนถึงสถานีปลายทาง ส่วนในเที่ยวกลับก็เข้าทำงานในลักษณะเดียวกันการทำงานของโจทก์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการเดินทางของขบวนรถดีเซลรางแต่ละครั้ง จึงเป็นการทำงานตามปกติของโจทก์ เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละเที่ยวของการเดินทางจึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติด้วย เพราะนอกจากงานต้อน รับขบวนรถแล้วโจทก์ไม่มีหน้าที่อื่นอีก แม้เวลาทำงานบนขบวนรถจะเกิดกำหนดเวลาตามที่กำหนดในข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ก็ตาม โจทก์ก็ได้ทำงานกับจำเลยโดยได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงรวมกันตลอดมา แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างกันในลักษณะดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงจึงเป็นค่าจ้าง เมื่อนำเบี้ยเลี้ยงไปคิดรวมกับเงินเดือนแล้ว ถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ งานที่จำเลยให้โจทก์ทำเป็นงานขนส่ง แม้จำเลยจะให้โจทก์ทำงานเกินเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดในการกระทำของตนเป็นอีกกรณีหนึ่งไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 36 การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเกือบหนึ่งเท่า เมื่อพิจารณาตามลักษณะงานกับระยะเวลาที่โจทก์ทำงานนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกือบ 4 ปี และโจทก์ไม่ได้โต้แย้งการจ่ายค่าจ้างในลักษณะดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ส่วนที่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นค่าทำงานเกินเวลา ทั้งกรณีไม่ใช่การใช้แรงงานไม่เหมาะสม จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยจ่ายเงินให้ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้อีก ลักษณะงานของโจทก์จะต้องทำต่อเนื่องคาบเกี่ยวกันในวันที่ติดต่อกัน ไม่อาจหยุดเต็มวันในวันเดียวกันได้ จำเลยมีเวลาให้โจทก์หยุดทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้งกรณีถือได้ว่าในแต่ละสัปดาห์จำเลยได้ให้โจทก์หยุดทำงานเกินกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 7 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไม่มีข้อตกลงล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปหยุดปีอื่น ทั้งจำเลยไม่ได้ให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี แม้ขณะฟ้องโจทก์ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือให้จำเลยกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีในทางใดทางหนึ่งได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายให้.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสิบฟ้องว่า จำเลยได้รับโจทก์ทั้งสิบเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศจำเลยให้ค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายจำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 8 ทำงานบนขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศสายกรุงเทพมหานคร – สุรินทร์ เที่ยวละ 15 ชั่วโมง ซึ่งตามกฎหมายเกินไปวันละ 7 ชั่วโมง และจำเลยให้โจทก์ที่ 9 กับโจทก์ที่ 10ทำงานบนขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศสายกรุงเทพมหานคร – หาดใหญ่เที่ยวละ 34 ชั่วโมง ซึ่งตามกฎหมายทำเกินไปเดือนละ 132 ชั่วโมงโจทก์ทั้งสิบจึงมีสิทธิได้ค่าทำงานเกินเวลา จำเลยไม่เคยให้โจทก์ทั้งสิบ หยุดประจำสัปดาห์ โจทก์ทั้งสิบจึงมีสิทธิได้ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยไม่เคยให้โจทก์ทั้งสิบหยุดในวันหยุดตามประเพณี โจทก์ทั้งสิบจึงมีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีและจำเลยไม่เคยให้โจทก์ทั้งสิบหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ทั้งสิบจึงมีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างที่จ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำค่าทำงานเกินเวลา ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสิบ ตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 300 บาท และโจทก์จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นรายเที่ยวต่อการทำงาน 1 วัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน โจทก์ทั้งสิบจึงได้รับค่าจ้างเกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด จำเลยมิได้กำหนดให้โจทก์ทำงานวันละ 15 ถึง 16 ชั่วโมง เพราะเมื่อรถไฟเดินทางจากสาถานี ต้นทางมาถึงสถานีกรุงเทพ โจทก์ก็ไม่ต้องอยู่ทำงานแต่อย่างใด แต่จะต้องกลับมาถึงสถานีเพื่อดูแลความเรียบร้อยก่อนเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง เพื่อเดินกลับสถานีต้นทางอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรวมแล้วโจทก์ทำงานให้จำเลยวันละประมาณ 12 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อกิจการของจำเลยเป็นงานขนส่งและได้รับอนุมัติจากกรมแรงงานแล้ว จำเลยสามารถให้โจทก์ทำงานได้เกินวันละ 8 ชั่วโมง โดยมิต้องจ่ายค่าล่วงเวลา และเมื่อคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเดือนโจทก์ได้รับประโยชน์มากกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเลยได้กำหนดให้โจทก์มีวันหยุดประจำสัปดาห์แล้วแต่โจทก์ไม่ยอมหยุดเอง โจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีสิทธิเรีกย ร้องค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างวันหยุดตามประเพณี และค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลย จ่ายเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ทั้งสิบ
โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์ในประการแรกว่า จำเลยจ่ายเงินเดือนโจทก์ทั้งสิบเดือนละ 300 บาท นอกนั้นเป็นเบี้ยเลี้ยง ที่ศาลแรงงานกลางนำเบี้ยเลี้ยงมาคิดคำนวณเป็นค่าจ้างแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าตอนข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา โจทก์ทุกคนทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนขบวนรถไฟดีเซลราง เริ่มเข้าทำงานก่อนที่ขบวนรถจะออก 1 ชั่วโมงและทำงานอยู่บนขบวนรถไฟดีเซลรางตลอดทางจนถึงสถานีปลายทางและในเที่ยวกลับก้น เข้าทำงานในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นการทำงานของโจทก์ทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นจนสุดสิ้นในการเดินทางของขบวนรถไฟดีเซลรางแต่ละครั้งนั้นจึงเป็นการทำงานตามปกติของโจทก์ทุกคนเบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกคนในแต่ละเที่ยวของการเดินทางจึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติด้วย เพราะนอกจากการต้นรับบนขบวนแล้วตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสิบไม่มีหน้าที่อื่นอีก ถึงแม้เวลาทำงานที่อยู่บนขบวนรถจะเกินกำหนดเวลาตามกำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ทำงานกับจำเลยโดยได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงรวมกันตลอดมา แสดงว่าโจทก์ทุกคนและจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างกันในลักษณะดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 และกรณีของโจทก์ทุกคนนั้นเมื่อคิดรวมเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้ก็มีจำนวนเกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่โจทก์ทุกคนฟ้องเรียกมา
โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์ในประการที่สอง ว่า จำเลยให้โจทก์ทั้งสิบทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 3(2) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงาน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่โจทก์ทั้งสิบ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องเกี่ยวกับค่าล่วงเวลาหรือค่าที่ทำงานเกินเวลาเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า งานของจำเลยที่โจทก์ทั้งสิบทำเป็นการลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสิ่งของด้วยเครื่องอุปกรณ์การขนส่งจึงเป็นงานขนส่งตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3(2) และวรรคสอง(2) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างไว้ไม่เกินวันละแปดชั่วโมง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาปรากฎว่าในช่วงระยะเวลาการทำงานดังกล่าวจำเลยมิได้รับอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และโจทก์ทุกคนทำงานติดต่อกันเกินกว่าแปดชั่วโมงนายจ้างทั่วไปที่ให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาปกตินั้น ถ้าพิจารณาโดยหลักทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 34 นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าว แต่กรณีของโจทก์ทั้งสิบได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าเป็นงานขนส่ง จะนำบทบัญญัติในข้อ 34 ซึ่งเป็นหลักของการจ้างงานทั่วไปมาใช้มิได้จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในเรื่องของงานประเภทนี้โดยเฉพาะงานอันเป็นข้อยกเว้นข้อ 34 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 36 ว่า “ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 34 และ ข้อ 42… (3) งานขนส่ง… ทั้งนี้เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้าง” ในเมื่อกฎหมายที่จะต้องใช้บังคับสำหรับกรณีของโจทก์ทั้งสิบและจำเลยมีดังกล่าวการที่จำเลยให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดในการกระทำของตนเป็นอีกกรณีหนึ่งมิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสิบนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แต่ประการใดดังนั้นสิทธิของโจทก์ทั้งสิบในกรณีนี้จึงต้องพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36 ที่กล่าวข้างต้น ในเมื่อโจทก์ทั้งสิบไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 36 แล้ว และในคำฟ้องของโจทก์ทุกคนก็มิได้กล่าวถึงเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ในตอนท้ายของบทบัญญัติข้อนี้ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของโจทก์ทั้งสิบ ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ได้ค่าจ้างคนละ 4,300 บาท ต่อเดือน โจทก์ที่ 9 และโจทก์ที่ 10 ได้ค่าจ้างคนละ 3,700 บาท ต่อเดือนเกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในขณะนั้นเกือบหนึ่งเท่า เมื่อพิจารณาตามลักษณะของงานที่โจทก์ทั้งสิบทำให้จำเลยก็ดี และระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสิบทำงานกับจำเลยมาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกือบ 4 ปีก็ดี โจทก์ทั้งสิบก็มิได้โต้แย้งในการจ่ายค่าจ้างของจำเลยในลักษณะดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสิบและจำเลยตกลงกันให้ส่วนที่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นค่าทำงานเกินเวลา และกรณีมิใช่การใช้แรงงานที่ไม่เหมาะสมจึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยจ่ายเงินให้ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีสิทธิตามบทกฎหมายหรือตามสัญญาที่จะให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้ให้อีก
โจทก์อุทธรณ์ในประการ ที่สามว่า วันหยุดประจำสัหดาห์ 1 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 7หมายถึงวันใดวันหนึ่งในหนึ่งสัปดาห์ ไม่ใช่หมายถึง 24 ชั่วโมง ในหนึ่งสัปดาห์ ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่กำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วัน แม้แต่ละสัปดาห์โจทก์จะมีเวลาหยุดพักช่วงห่างกันเกิน 24 ชั่วโมง ก็จะถือว่าจำเลยจัดให้โจทก์มีวันหยุดประจำสัปดาห์แล้วไม่ได้ จำเลยต้องจ่ายค้าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ให้โจทก์ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสำหรับค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ลักษณะงานที่โจทก์ทั้งสิบทำกับจำเลยนั้น จะต้องทำต่อเนื่องคาบเกี่ยวกันในวันที่ติดต่อกัน สภาพของงานจะหยุดเต็มวันในวันเดียวดังที่เข้าใจกันตามธรรมดานั้นไม่อาจเป็นไปได้ ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา ปรากฏว่าจำเลยมีเวลาให้โจทก์ทุกคนหยุดทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละสองครั้งกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าในแต่ละสัปดาห์จำเลยได้ให้โจทก์ทุกคนหยุดทำงานเกินกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 7 แล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางได้ให้เหตุผลในปัญหานี้ไว้แล้วโดยชัดเจน และต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาว่า จำเลยได้จัดให้โจทก์ทั้งสิบมีวันหยุดประจำสัปดาห์แล้วโจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทำงานสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์จากจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า แม้ขณะฟ้องโจทก์ทั้งสิบยังเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อจำเลยไม่กำหนดให้โจทก์ลาหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์ทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักฟ่อนประจำปีปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาปรากฏว่าจำเลยมิได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสิบหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่มีข้อตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปหยุดปีอื่นและจำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทั้งสิบหยุดพักผ่อนประจำปี เห็นว่าถึงแม้ขณะที่ฟ้องโจทก์ทั้งสิบยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ก็ตาม โจทก์ทั้งสิบก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลย จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือให้จำเลยกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ เมื่อเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสิบที่จะเรียกได้ในทางใดทางหนึ่ง จึงจะบังคับให้โจทก์ทั้งสิบต้องใช้สิทธิได้เฉพาะกรณีหลังดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์ทั้งสิบใช้สิทธิเรียกเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างส่วนนี้ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 32(3) คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่า วันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์แต่ละคนนั้นจำเลย ยอมรับตามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 4 มีคนละ 21 วัน โจทก์ที่ 5 ถึงโจทก์ที่ 7 มีคนละ 9 วันโจทก์ที่ 8 มี 6 วัน โจทก์ที่ 9 และโจทก์ที่ 10 มีคนละ 21 วันอัตราค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์แต่ละคนเรียกมาในฟ้องนั้นไม่เกินกว่าค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนได้รับ จึงกำหนดให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แต่ละคนดังนี้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 1,400 บาท โจทก์ที่ 5 ถึงโจทก์ที่7 คนละ 630 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 438 บาท โจทก์ที่ 9 และโจทก์ที่ 10 คนละ 1,470 บาท และกรณีต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้อง จะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ ทั้งสิบในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินของโจทก์แต่ละคน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 1,470 บาท โจทก์ที่ 5ถึงที่ 7 คนละ 630 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 438 บาท โจทก์ที่ 9และที่ 10 คนละ 1,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.