คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยให้การในข้อแรกว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมดก็ตาม แต่จำเลยได้ให้การในข้อต่อมาเกี่ยวข้องกับ ข้อกล่าวอ้างตามฟ้องประการแรกว่าส. ผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทจะกระทำการก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง ดังนี้ คำให้การของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นคำให้การที่ไม่แจ้งชัดว่าเป็นการปฏิเสธฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่า ได้มีการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดจากแบบแปลนที่อนุญาตจริง ตามฟ้องและยังมิได้รื้อถอนตามคำสั่งของโจทก์ ส่วนข้อเท็จจริง ที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องประการหลัง จำเลยได้ให้การยอมรับว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองโดยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 แปลง พร้อมอาคารพิพาทและจำเลยได้รับแจ้งคำสั่งของโจทก์ที่ให้ทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่เกินจากแบบแปลนที่โจทก์อนุญาตให้ทำการก่อสร้างภายในเวลาที่กำหนดแล้วและจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องทั้งสองประการดังกล่าวโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในฟ้องอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1)และโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งได้ตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4,42

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528และตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยมีพลตรีจำลองศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โจทก์ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตพระนคร (ผู้อำนาจการเขตพระนครในปัจจุบัน)ปฏิบัติราชการแทนในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2526 นายปิตินันท์ณัฐรวิโรจน์หรือณัฐรุจิโรจน์ เจ้าของที่ดินโฉนดที่ 52 และโฉนดที่ 52 และโฉนดที่ 3068 ได้มอบอำนาจให้นายสมหวัง กิติวรรณวนิชขอรับใบอนุญาตจากโจทก์เพื่อปลูกสร้างอาคารตึกพักอาศัย 3 ชั้นดาดฟ้า 1 หลัง บนที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว โจทก์ได้พิจารณาและได้ออกใบอนุญาตปรากฏตามสำเนาหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารที่ พ 22/2526 บุคคลทั้งสองดังกล่าวได้ร่วมกันทำการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต โดยเจตนาดัดแปลงอาคารที่พักอาศัยเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22, 31, 40, 42 และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 30(1)(2)(3)(4) และข้อ 76(1)(3) นายตรวจอาคารเขตพระนครได้ตรวจพบว่ามีการกระทำฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวและผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาราชการแทนหัวหน้าเขตพระนคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งให้นายสมหวังผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวระงับการก่อสร้างอาคาร และรื้อถอนอาคารที่เกินจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต แต่นายสมหวังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าเขตพระนครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเพื่อดำเนินคดีแก่นายสมหวังพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับนายสมหวังในข้อหาก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเป็นเงิน 10,0000 บาท ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นเงิน 12,500 บาท และเนื่องจากนายสมหวังยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้ง หัวหน้าเขตพระนครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งตามหนังสือที่ กท 9001/10377 แจ้งให้นายสมหวังรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างเกินจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตภายใน 35 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่ยังมิได้มีการดำเนินการตามที่ได้รับแจ้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่23 มกราคม 2528 จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมอาคารเลยที่ 101/2 ที่ก่อสร้างเกินจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามที่กล่าวข้างต้นจากนายปิตินันท์ ผู้อำนวยการเขต (หัวหน้าเขต)พระนคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งตามหนังสือเลขที่ กท 9001/5062 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2530 แจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารดังกล่าวรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างเกินจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งคำสั่ง จำเลยได้ทราบคำสั่งแล้วแต่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างเกินจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตเลขที่ พ 22/2526ลงวันที่ 11 เมษายน 2526 ทั้งหมดออกไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาล ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามมาตรา 41, 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความจริง กรุงเทพมหานคร เป็นนิติบุคคล พลตรีจำลอง ศรีเมือง ไม่มีอำนาจฟ้องในนามส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นายสมหวังผู้ขออนุญาตก่อสร้างหรือนายปิตินันท์ผู้โอนขายที่ดินแก่จำเลย จะกระทำการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง แต่ในขณะที่จำเลยได้รับโอนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้มีอยู่ก่อนขณะรับโอนแล้ว จำเลยมิได้เป็นผู้ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารสิ่งปลูกสร้างใด ๆ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคาร ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า (1)โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ (2) จำเลยต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างเกินจากแบบที่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ และมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยประเด็นแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องสำหรับประเด็นหลังเห็นว่า คดีฟังได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารพิพาท จำเลยเป็นเจ้าของแม้มิได้เป็นผู้กระทำ ศาลก็มีอำนาจบังคับให้รื้อถอนได้และจำเลยได้รับแจ้งคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างทั้งหมดที่เกินจากแบบที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตเลขที่ พ 22/2526 ลงวันที่ 11 เมษายน 2526 หากจำเลยไม่ทำการรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นการอ้างข้อเท็จจริง2 ประการ ประการแรก โจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ตรวจพบว่าอาคารพิพาทที่โจทก์ได้ออกใบอนุญาตให้ทำการก่อสร้าง ผู้ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 แปลงซึ่งใช้เป็นที่ตั้งอาคาร ได้ดัดแปลงอาคารที่ได้รับอนุญาตให้แก่สร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 3 ชั้น เป็นอาคารพาณิชย์สูง 11 ชั้นเพื่อประโยชน์ทางการค้า อันเป็นการก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และผู้ดำเนินการก่อสร้างมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่ให้ทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่เกินจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ประการที่สอง จำเลยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทในเวลาภายหลังต่อมา และโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่มีการก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ภายในเวลาที่กำหนด ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้น โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะให้การในข้อแรกว่าจำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมดก็ตามแต่จำเลยได้ให้การในข้อต่อมาเกี่ยวกับข้อกล่าวอ้างตามฟ้องประการแรกดังกล่าวว่านายสมหวังผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทจะกระทำการก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ จำเลยไม่รับรองดังนี้ เห็นว่าคำให้การจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกล่าวอ้างตามฟ้องประการแรกดังกล่าว เป็นคำให้การที่ไม่แจ้งชัดว่าเป็นการปฏิเสธฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองจึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่า ได้มีการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจริงตามฟ้อง และยังมิได้มีการรื้อถอนตามคำสั่งของโจทก์ ส่วนข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องประการหลัง จำเลยได้ให้การยอมรับว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองโดยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 แปลงพร้อมอาคารพิพาท และจำเลยได้รับแจ้งคำสั่งของโจทก์ที่ให้ทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่เกินจากแบบแปลนที่โจทก์อนุญาตให้ทำการก่อสร้างภายในเวลาที่กำหนดแล้วและจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องทั้งสองประการดังกล่าวโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในฟ้องอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84(1) และโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 42 ที่ศาลล่างทั้งสองให้งดการสืบพยานและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share