แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายพระประแดง-บางแคฯ พ.ศ. 2521 ใช้บังคับที่ดินที่อยู่ใกล้กับที่ดินของโจทก์ซื้อขายกันตารางวาละ900 บาทเศษ เมื่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติพิเศษไว้ในเรื่องเงินค่าทดแทน การกำหนดเงินค่าทดแทนให้กำหนดเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 ดังนั้น ราคาที่ดินของโจทก์จะต้องมีราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 900 บาท จำเลยกำหนดราคาตารางวาละ 400 บาท ตามราคา ประเมินที่ดินเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2519ถึง 2521 ซึ่งกำหนดตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 19747ตำบลฉิมพลี (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานครถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายพระประแดง-บางแค-ลาดบัวหลวง-สุพรรณบุรีตอนตลิ่งชัน-บางบัวทอง พ.ศ. 2521 จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 400 บาท ซึ่งไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม เพราะราคาที่ดินโฉนดดังกล่าวซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฉบับดังกล่าวใช้บังคับตารางวาละ 1,500 บาทจำเลยจะต้องชำระค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองเพิ่มอีก 111,100 บาทพร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 167,344.38 บาทพร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 111,100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ได้พิจารณาจากราคาปานกลางของที่ดินเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ประกาศใช้ พ.ศ. 2521ถึง 2524 ในท้องที่แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน ตารางวาละ150 บาท พิจารณาจากราคาประเมินที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2519 ถึง 2521 สำหรับที่ดินในแขวงฉิมพลีหน่วยที่ 2 คือ ที่ดินติดซอยที่รถยนต์เข้าได้และที่ดินถัดจากที่ดินติดถนนสุขาภิบาลลึกเข้าไปอีก 50 เมตรตารางวาละ 400 บาท พิจารณาจากสภาพที่ดินของโจทก์ยังเป็นทุ่งนายังมิได้มีการปรับปรุงและเป็นที่ดินจัดสรรไว้เป็นที่อยู่อาศัยมิได้มุ่งในทางการค้า ทำเลอยู่ห่างไกลที่ชุมชน และพิจารณาจากการซื้อขายที่ดินในแขวงฉิมพลีใกล้เคียงวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับซึ่งปรากฏว่าราคาที่ซื้อขายยังต่ำกว่าราคาประเมิน ที่ดินบริเวณนั้นไม่มีแปลงใดซื้อขายในราคาสูงถึงตารางวาละ 1,500 บาทจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์อย่างเหมาะสมเป็นธรรมแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าดอกเบี้ยเพราะขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 50,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาโดยจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ที่ดินที่พิพาทโจทก์ทั้งสองซื้อมาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายพระประแดง-บางแค-ลาดบัวหลวง-สุพรรณบุรีตอนตลิ่งชัน-บางบัวทอง พ.ศ. 2421 ใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนทั้งแปลงที่ดินโฉนดเลขที่ 19743 ตามเอกสารหมาย จ.2 อยู่ใกล้กับที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ซื้อขายกันเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2521 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาที่กล่าวข้างต้นใช้บังคับ ในราคาตารางวาละ 900 บาทเศษคดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าเงินค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ ในเรื่องค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 กำหนดว่า “เงินค่าทดแทนนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้
(1)…
(2) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น
และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทองตอนตลิ่งชัน-บางบัวทอง ในท้องที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานครและอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีพ.ศ. 2526 นั้น มิได้มีบทบัญญัติพิเศษไว้ในเรื่องเงินค่าทดแทนการพิจารณาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจึงต้องพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองซื้อขายกันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายพระประแดง-บางแค-ลาดบัวหลวงสุพรรณบุรี ตอนตลิ่งชัน-บางบัวทอง พ.ศ. 2521 ใช้บังคับนั้นราคาตารางวาละ 900 บาทเศษ อันถือได้ว่าเป็นราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ถ้าคิดราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับก็จะต้องมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 900 บาทเศษที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจะต้องใช้ราคาที่ดินตามราคาตลาดตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีราคาตารางวาละ 400 บาทนั้น เห็นว่าราคาตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น กำหนดเมื่อ พ.ศ. 2518 ก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายพระประแดงบางแค-ลาดบัวหลวง-สุพรรณบุรี ตอนตลิ่งชัน-บางบัวทองพ.ศ. 2521 ใช้บังคับหลายปี การนำราคาดังกล่าวมาใช้กำหนดเงินค่าทดแทนจึงไม่ต้องด้วยหลักการที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ตามที่กล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในราคาตารางวาละ 900 บาทนั้น เป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กฎหมายในเรื่องนี้กำหนดไว้จึงเป็นเงินค่าทดแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว”
พิพากษายืน