แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมได้ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มิได้ทำประโยชน์ในที่พิพาท การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เข้าปลูกบ้านและทำกินในที่พิพาทกับบิดาโจทก์ร่วมมาช้านาน เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิที่จะอยู่และทำกินในที่พิพาทต่อไปได้ จึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา เมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมได้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกจากที่พิพาทแล้วแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เพิกเฉยเสียไม่ยอมออกจากที่พิพาทก็อาจเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยละเมิดต่อโจทก์ร่วม หาใช่เป็นความผิดฐานบุกรุกไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกได้บังอาจร่วมกันเข้าไปในที่นามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่ 33 ไร่ 3 งาน90 ตารางวา อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของนายสุทธะ เทียมสำโรงผู้เสียหายเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด และเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83 จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานายสุทธะ เทียมสำโรง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365, 83 ให้จำคุกคนละ 2 เดือน คดีสำหรับจำเลยที่ 4ที่ 5 และที่ 6 ให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นบุตรของนายสิงห์ทอง นางเทียม เทียมสำโรง นางเทียมมารดาโจทก์ร่วมตายเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2498 ต่อมาปี พ.ศ. 2499นายสิงห์ทองบิดาโจทก์ร่วมได้อยู่กินกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน5 คน คือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับเด็กชายวิทูรย์ เทียมสำโรงเด็กชายสุทีป เทียมสำโรง และเด็กชายสุนทร เทียมสำโรง เดิมนายสิงห์ทองและนางเทียมมีที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 90 ไร่เศษอยู่ที่ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่26 มกราคม 2507 ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 8มีชื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของ ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2508 โจทก์ร่วมได้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่เด็กชายวิทูรย์ เด็กชายสุเทพเด็กชายสุทีปและเด็กชายสุนทร คงเหลือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจำนวน 33 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา แล้วโจทก์ร่วมได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพมหานคร ต่อมา เด็กชายวิทูรย์เด็กชายสุเทพ เด็กชายสุทีปและเด็กชายสุนทรโดยนายสิงห์ทองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมและในฐานะส่วนตัวได้ยื่นฟ้องโจทก์ร่วมขอให้เพิกถอนชื่อโจทก์ร่วมออกเสียจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เล่ม 28 หน้า 1 เลขที่ 8 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ห้ามโจทก์ร่วมมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวต่อไปตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2521 หมายเลขแดงที่ 789/2523 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าว ศาลฎีกาพิพากษาว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทตามคำพิพากษาฎีกาที่ 223/2526 มีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3กระทำผิดฐานบุกรุกหรือไม่ โจทก์ร่วมเบิกความว่า เมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 223/2526 แล้ว โจทก์ร่วมได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ได้รับทราบคำบอกกล่าวแล้วแต่ไม่ยอมออก โจทก์ร่วมได้มอบให้นางสุรีย์ภริยาไปติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อขอรังวัดออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) แทนฉบับเดิมที่หายไป แล้วได้นำเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าพนักงานตำรวจไปยังที่พิพาทเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2526 เพื่อทำการรังวัด ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 กำลังไถนาและดำนาอยู่ในที่พิพาท เมื่อรังวัดเสร็จแล้วโจทก์ร่วมได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกไปจากที่พิพาทหรือไม่ก็ให้มาทำหนังสือสัญญาเช่า แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ไม่ยอม และโจทก์ร่วมยังเบิกความยอมรับว่า หลังจากที่บิดาโจทก์ร่วมได้จำเลยที่ 1 เป็นภริยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2499 บิดาโจทก์ร่วมจำเลยที่ 1 กับพวก ก็อาศัยอยู่ในบ้านในที่ดินแปลงนี้ ซึ่งเป็นบ้านเดิมตั้งแต่ครั้งนางเทียมมารดาโจทก์ร่วมมีชีวิตอยู่ น้องต่างมารดาของโจทก์ร่วมก็เกิดและอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนี้ ทั้งจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 มีบ้านอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทตามภาพถ่ายบ้านหมาย ล.1โดยจำเลยที่ 1 ยังมีบ้านอีกหลังหนึ่งในที่ดินแปลงพิพาทด้วยนางแดง จุลกิ่ง และนายโพธิ์ พายสำโรง พยานโจทก์ต่างเบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 อยู่ในที่แปลงพิพาทมากว่า 20 ปีแล้ว ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ร่วมได้ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่กรุงเทพมหานครมิได้ทำประโยชน์ในที่พิพาท การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เข้าปลูกบ้านและทำกินในที่พิพาทกับนายสิงห์ทองบิดาโจทก์ร่วมมาช้านานเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิที่จะอยู่และทำกินในที่พิพาทต่อไปได้ จึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา เมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมได้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ออกจากที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เพิกเฉยเสียไม่ยอมออกจากที่พิพาท ก็อาจเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยละเมิดต่อโจทก์ร่วม หาใช่เป็นความผิดฐานบุกรุกดังที่โจทก์กล่าวฟ้องไม่”
พิพากษายืน