คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3355/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อบังคับในการทำงานกำหนดว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีผู้ปฏิบัติงานจะสะสมไม่ได้ และผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยจะถือว่าผู้นั้นสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จาก จำเลย เมื่อเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งซึ่งอนุโลมมาใช้บังคับแก่คดีแรงงานด้วยตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานเห็นว่า พยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีเหตุผลให้รับฟังดีกว่าพยานโจทก์ แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยให้ อำนาจนายส.บอกเลิกจ้างโจทก์มิใช่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ดังจำเลยให้การ โดยศาลแรงงานได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยอาศัย คำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์ประกอบพฤติการณ์ที่ปรากฏ ในสำนวนทั้งสิ้น กรณีจึงมิใช่ศาลแรงงานหยิบยกข้อเท็จจริง นอกสำนวนมาตัดสินคดี เมื่อข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ยินยอมในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือไม่ เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบให้ปรากฏ เพื่อให้จำเลยพ้นความรับผิด แต่จำเลยไม่นำสืบ การที่ ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ หรือไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้ความยินยอม เช่นนี้ จึงมิใช่ศาลแรงงาน ฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนขึ้นมาวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2538 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการผลิต ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายนอกจากนี้จำเลยกำหนดให้พนักงานลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 12 วันในปี 2541 โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ และจำเลยตกลงจ่ายโบนัสให้โจทก์ในอัตราไม่น้อยกว่า 1 เท่าของเงินเดือนปัจจุบันในปี 2540 จำเลยได้เลื่อนจ่ายโบนัสจากเดือนธันวาคม 2540 เป็นเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับโบนัสตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงิน 52,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 157,200 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 52,400 บาท โบนัส 52,400 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 20,960 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มาทำงานเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2538 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการผลิต ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 27 พฤษภาคม 2541 จำเลยมอบให้นายสุเทพ ปุ๋ยสาลี บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ตามที่จำเลยกล่าวหา โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการนำความเท็จมาฟ้องต่อศาลและเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายกรณีไม่เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายทั้งเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมมีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าการที่จำเลยมีประกาศไม่จ่ายโบนัสประจำปี 2540 โดยโจทก์ไม่ยินยอม ไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยต้องจ่ายโบนัสประจำปี 2540 ให้แก่โจทก์และเมื่อโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 2540 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนนี้แก่โจทก์ด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 157,200 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 52,400 บาท โบนัส 52,400 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 20,960 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ข้อบังคับในการทำงานเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 14.5 กำหนดว่า วันหยุดพักผ่อนประจำปีผู้ปฏิบัติงานจะสะสมไม่ได้ และข้อ 14.6 ระบุว่า ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจำเลยจะถือว่าผู้นั้นสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากจำเลย ล้วนเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ซึ่งอนุโลมมาใช้บังคับแก่คดีแรงงานด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 และที่จำเลยอ้างคำเบิกความของนายสุเทพ ปุ๋ยสาลี ที่ว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้นั้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า เอกสารหมาย ล.2 ปรากฏชัดว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงระหว่างนายสุเทพ ปุ๋ยสาลีกับนายโกศล นัยรุ่งเรือง และนายสุเทพกับนางจินดา ตามครองชัยมาเทียบเคียงและวินิจฉัยคดีนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากนายสุเทพกับโจทก์เป็นพนักงานระดับเดียวกัน วิธีการเลิกจ้างก็แตกต่างกัน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยมอบอำนาจให้นายสุเทพเลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางหยิบยกข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาตัดสินคดีนั้นประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีเพียงนายสุเทพผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์การเลิกจ้างพนักงานต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจ ส่วนโจทก์นอกจากมีตัวโจทก์แล้วยังมีนายโกศลและนางจินดาซึ่งเคยเป็นพนักงานของจำเลยมาเบิกความทำนองเดียวกันว่า นายสุเทพแจ้งให้พยานทั้งสองทราบว่า จำเลยเลิกจ้าง ทั้งได้ความจากนายโกศลอีกว่าก่อนที่จำเลยจะมีหนังสือเลิกจ้างได้มีการเจรจากัน เมื่อตกลงกันแล้วจำเลยจึงทำหนังสือเลิกจ้างอันมีลักษณะเช่นเดียวกับกรณีของโจทก์เพียงแต่กรณีของโจทก์นั้นไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยมีข้อขัดแจ้งหรือปัญหาในการทำงานหรือโจทก์ได้งานใหม่เมื่อพิจารณาประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ถดถอย โจทก์จะละทิ้งหน้าที่จนเป็นเหตุให้ตนเองเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมายย่อมเป็นไปไม่ได้ พยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีเหตุผลให้รับฟังดีกว่าพยานโจทก์ แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้อำนาจนายสุเทพบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2541 มิใช่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ดังจำเลยให้การเห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยอาศัยคำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์ดังกล่าวประกอบพฤติการณ์ที่ปรากฏในสำนวนทั้งสิ้น มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาตัดสินคดีแต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าประกาศเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 3 เป็นการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ไม่เป็นคุณ เมื่อมิได้รับความยินยอมจากโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่ามิได้รับความยินยอมจากโจทก์การวินิจฉัยโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยินยอมในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบให้ปรากฏในสำนวนเพื่อให้พ้นความรับผิด เมื่อจำเลยไม่นำสืบศาลแรงงานกลางจึงฟังข้อเท็จจริงว่ามิได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้ความยินยอมนั่นเอง จึงไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share