คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1244/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เฮโรอีนของกลางทั้งหมดแต่ละก้อนถูกผสมด้วยฟีโนบาร์บิตาลและไดอาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 รวมอยู่ด้วย จึงเป็นวัตถุอันเดียว การที่ จำเลยมีและนำเข้าซึ่งเฮโรอีนและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว เป็นการกระทำคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำผิด เพียงกรรมเดียว เหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เพราะมีเหตุอันควรปรานี ไม่จำกัดเฉพาะที่บัญญัติไว้เท่านั้นเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันศาลก็อาจนำมาพิจารณาวินิจฉัยลดโทษให้ได้ พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยเดินทางเข้ามา ในราชอาณาจักรไทยนั้น ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าพนักงาน ของรัฐเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเพราะไม่รู้หนังสือ และกฎหมายไทยไม่มีญาติพี่น้องที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือได้ จำเลยเป็นผู้ตกอยู่ในความทุกข์อย่างแสนสาหัส และจำเลย ได้รับความช่วยเหลือทางด้านคดีเมื่อได้ถูกฟ้องคดีต่อศาลแล้ว โดยศาลขอแรงทนายความให้แก้ต่างให้ กรณีจึงมีเหตุอันควร ปรานีแก่จำเลย สมควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 53

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 6, 16, 90, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ริบเฮโรอีนของกลาง และริบฟีโนบาร์บิตาลและไดอาซีแพมของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,65 วรรคสอง และมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 90ลงโทษฐานนำเฮโรอีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายให้ประหารชีวิต ลงโทษฐานนำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เข้มมาในราชอาณาจักร จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบด้วยมาตรา 52(1) ฐานนำเข้าซึ่งเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายจำคุกตลอดชีวิต ฐานนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 จำคุก2 ปี เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในกระทงแรกแล้ว จึงไม่นำโทษในกระทงหลังมารวมอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)คงลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ริบเฮโรอีนของกลาง และริบฟีโนบาร์บิดาและไดอาซีแพมของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,65 วรรคหนึ่ง, 67 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 90การมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองและนำเข้าซึ่งเฮโรอีน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานนำเข้าซึ่งเฮโรอีน อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิตลงโทษฐานนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 จำคุก 3 ปีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 ฐานนำเข้าซึ่งเฮโรอีน คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานนำเข้าวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 คงจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 35 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยมีเฮโรอีนชนิดผงสีน้ำตาลอ่อนห่อด้วยพลาสติกสีดำทำเป็นก้อนกลม ๆ จำนวนหลายก้อนบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ จำนวน1 ถุง น้ำหนัก 678,050 กรัม ไว้ในครอบครองและนำเฮโรอีนดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร จึงถูกจับกุมพร้อมยึดเฮโรอีนดังกล่าวทั้งหมดไว้เป็นของกลาง ได้มีการส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานพบว่านอกจากมีเฮโรอีน คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ 17.417 กรัม แล้วยังตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท4 ชนิดฟีโนบาร์บิตาล คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 30,662 กรัมและชนิดไดอาซีแพม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 27,255 กรัมผสมอยู่ด้วย จึงแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่า นำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ด้วยศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนเป็นประการแรกว่า การที่จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง นำเข้าซึ่งเฮโรอีนและนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองเห็นว่า เฮโรอีนของกลางทั้งหมดแต่ละก้อนนั้นถูกผสมด้วยฟีโนบาร์บิตาลและไดอาซีแพมจึงเป็นวัตถุอันเดียว การที่จำเลยมีและนำเข้าซึ่งเฮโรอีนและวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ดังกล่าวเป็นการกระทำคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำผิดเพียงกรรมเดียวหาใช่เป็นความผิดหลายกรรมดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ปัญหาต่อไปจะได้วินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยซึ่งมีว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 53 นั้น เป็นการวินิจฉัยคดีโดยคลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมายตามมาตรา 78 เพราะมิได้วินิจฉัยถึงเหตุอื่น ๆ ที่ได้รับการลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 ด้วยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายหรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ เหตุบรรเทาโทษนั้นได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาหรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน” บทบัญญัติกฎหมายมาตรานี้เป็นบทบัญญัติซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะลดโทษให้แก่จำเลยในการที่มีเหตุอันควรปรานี โดยไม่จำกัดว่า เหตุอันควรปรานีนั้นจะมีแต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 เท่านั้น เหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันศาลก็อาจนำมาพิจารณาวินิจฉัยลดโทษให้ได้ทั้งนี้แล้วแต่ดุลพินิจของศาลจะเห็นสมควรว่าเหตุผลใดควรที่จะลดโทษให้แก่จำเลยได้ แต่โทษที่จะลดให้นั้นต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้ลดโทษให้แก่จำเลยหนึ่งในสามโดยอาศัยเหตุที่คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีของศาลโดยมิได้หยิบยกเอาปัญหาที่จำเลยเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาเพราะไม่รู้หนังสือไทยและกฎหมายไทย หรือตกอยู่ในความทุกข์อย่างแสนสาหัสมาพิจารณาวินิจฉัยลดโทษให้การที่ศาลไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวมาลดโทษให้จำเลยก็เพราะศาลเห็นว่าไม่จำเป็นหรือเห็นว่าไม่ใช่เหตุที่จะลดโทษให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล การที่ศาลไม่ได้ลดโทษให้จำเลยโดยเหตุดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีโดยคลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมายตามมาตรา 78 แต่อย่างใดไม่ฎีกาของจำเลยด้วยเหตุนี้จึงฟังไม่ขึ้น แต่ที่จำเลยฎีกาโดยประสงค์จะขอให้ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งนั้น ก็ถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะให้ศาลฎีกาให้ความปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คดีจึงมีปัญหาว่ามีเหตุอันควรปรานีที่ศาลฎีกาจะลดโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งหรือไม่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดี ที่จำเลยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าพนักงานของรัฐเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเพราะไม่รู้หนังสือและกฎหมายไทยไม่มีญาติพี่น้องที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือได้ จำเลยเป็นผู้ตกอยู่ในความทุกข์อย่างแสนสาหัส และจำเลยได้รับความช่วยเหลือทางด้านคดีเมื่อได้ถูกฟ้องคดีต่อศาลแล้ว โดยศาลขอแรงทนายความให้แก้ต่างให้ กรณีจึงมีเหตุอันควรปรานีแก่จำเลย โดยศาลฎีกาเห็นควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 53ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคหนึ่ง, 67และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 90 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้าซึ่งเฮโรอีนอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุกตลอดชีวิตลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 53 คงจำคุกมีกำหนด 25 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share