คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ทหารกับพลเรือนกระทำผิดด้วยกันเป็นคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน ย่อมไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14(1) จึงต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือนตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดร่วมกับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นพลเรือน และขณะฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกของจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารอันจะ ทำให้คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนสั่งประทับฟ้องไว้แล้ว ถึงแม้จะปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตามศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นทหารประจำการกับพวกซึ่งเป็นพลเรือนอีก 3 คน ที่หลบหนีร่วมกันทำร้ายร่างกายนายสมัคร บุญมากผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส กระดูกข้อมือขวาหัก กระดูกเชิงกรานหักต้องทุพพลภาพ ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8), 83 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสองรับราชการทหารปฏิบัติหน้าที่อันเสี่ยงอันตรายเพื่อประเทศชาติมีคุณความดีมาแต่ก่อน และกระทำความผิดเป็นครั้งแรก ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้มีแต่ทหารเท่านั้นที่กระทำผิด จึงอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลชั้นต้นคดีนี้ซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษา ซึ่งจำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์ปัญหานี้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าปัญหาเรื่องอำนาจศาลเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยทั้งสองมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในปัญหาดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาพิพากษาใหม่ และเห็นว่า กรณีที่ทหารกับพลเรือนกระทำผิดด้วยกันเป็นคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14(1)ต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือนตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง และกรณีที่เมื่อศาลพลเรือนได้สั่งประทับฟ้องไว้โดยยังไม่ปรากฏแจ้งชัดว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารแล้ว แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 15 วรรคสอง สำหรับคดีนี้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายและร้อยตำรวจเอกมานิตย์ ศุภลักษณ์ พนักงานสอบสวนได้ความว่า ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย แต่ไม่ยืนยันว่าพวกของจำเลยทั้งสองอีก 3 คน เป็นพลเรือนหรือทหาร เนื่องจากพวกของจำเลยทั้งสองเหล่านั้นไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหาร และผู้เสียหายไม่รู้จักพวกของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาก่อน จากคำเบิกความของพยานโจทก์ไม่ปรากฏชัดว่าพวกของจำเลยทั้งสองเป็นทหาร และโจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดร่วมกับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นพลเรือนเมื่อขณะฟ้องคดีนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพวกของจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารอันจะทำให้คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนสั่งประทับฟ้องไม่แล้ว ถึงแม้จะปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 วรรคสองเมื่อในชั้นพิจารณาก็ยังไม่ปรากฏชัดว่าพวกของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแล้วเป็นทหารก็ยิ่งไม่มีเหตุที่จะถือได้ว่าศาลพลเรือนไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาคดีนี้มาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share