คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส. สามีโจทก์กับ ล. สามีจำเลยมีนิติสัมพันธ์กันโดย ล. ซึ่งมีสิทธิได้โควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยงวดละ 10 เล่มครึ่งเมื่อ ล. มอบบัตรโควต้าของตนให้ ส. ไปรับแทน โดย ส. ต้องชำระเงินค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่สภาสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในนามของ ล. ไปก่อน ย่อมถือได้ว่า ล.ตัวการให้ ส. เป็นตัวแทนของตนในการทำการรับสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย อันเป็นสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 ส. จ่ายเงินทดรองค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไปก่อนแทน ล. ตัวการ ส. จึงมีสิทธิเรียกเอาเงินชดใช้จาก ล. ตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง และเมื่อ ส. กับ ล. ได้หักทอนบัญชีกันแล้วปรากฏว่า ล. ยังเป็นหนี้ ส. อยู่อีกจำนวนมากล. จึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้ แต่ ล. ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น การที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาของ ล.โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของ ส. ย่อมถือได้ว่า ล. กับจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่ ส. โดยการโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการที่ ส.ผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่าสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทที่ตีใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อมาตรา 656 วรรคสองตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม การโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดิน และบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยความยินยอมของ ส. สามีโจทก์ย่อมไม่มีผลบังคับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ แม้จะมีการทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าต่อการเคหะแห่งชาติ และโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่การเคหะแห่งชาติเสร็จสิ้น ทั้งได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทมาเป็นของโจทก์แล้วก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท ที่ให้จำเลยเช่าซื้อไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 40252พร้อมบ้านเลขที่ 103/30 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2536 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากโจทก์ในราคา660,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด งวดละ 1 เดือน เดือนละ 9,240 บาท เป็นระยะเวลา 180 เดือน กำหนดชำระภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน เริ่มชำระวันที่ 1 เมษายน 2536 หากจำเลยค้างชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกัน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและริบเงินที่จำเลยชำระมาแล้วได้พร้อมต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตามสัญญาตั้งแต่งวดวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ถึงเดือนมิถุนายน 2537 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537 โดยขอให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเป็นเงิน 72,996 บาท การที่จำเลยไม่ออกจากทรัพย์ที่เช่าซื้อ โจทก์ขาดประโยชน์ที่อาจนำทรัพย์ที่เช่าซื้อให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นค่าขาดประโยชน์9,600 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากทรัพย์ที่เช่าซื้อและให้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 82,596 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากทรัพย์ที่เช่าซื้อ
จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินระหว่างนายสมชาย ปัญญ์เอกวงศ์ญาติโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ กับนายเล็ก ขำทอง สามีจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ ตามสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นนิติกรรมอันแท้จริงโดยนายสมชายคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นจำนวนมากและนำดอกเบี้ยมาทบรวมเข้าเป็นต้นเงิน ต่อมานายสมชายให้นายเล็กหาหลักประกันเงินกู้เพื่อให้นายสมชายยึดถือไว้ โดยให้จำเลยซึ่งเป็นภริยานายเล็กโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทที่จำเลยเช่าซื้อจากการเคหะแห่งชาติตั้งแต่ปี 2532 ให้แก่โจทก์และให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทไม่มีสิทธินำมาให้ผู้ใดเช่าซื้อ และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นสูงกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายสมชาย ปัญญ์เอกวงศ์ สามีโจทก์ซึ่งเป็นคนตาบอดเป็นผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่ ส่วนนายเล็ก ขำทอง สามีจำเลยเป็นคนตาบอดด้วยกันเป็นผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อยได้มอบบัตรโควต้าที่นายเล็กได้รับส่วนแบ่งจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยให้นายสมชายไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาลแทนโดยนายสมชายเป็นผู้ชำระเงินให้แก่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในขณะรับสลากกินแบ่งรัฐบาลแทนนายเล็กไปก่อนและนายสมชายคิดดอกเบี้ยเป็นเงินงวดละ 630 บาท เมื่อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลหมดจะมีการลงบันทึกการชำระหนี้ในสมุดของทั้งสองฝ่ายเพื่อหักกลบลบหนี้กัน งวดใดนายเล็กไม่ชำระหนี้ตามกำหนด นายสมชายจะคิดดอกเบี้ยทบต้น เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2534 นายเล็กเป็นหนี้นายสมชายอยู่ 263,506 บาท นายชายจึงให้นายเล็กกู้ยืมเงินไว้ นายเล็กได้ผ่อนชำระหนี้บางส่วนแล้วผิดนัดอีกเดิมจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเลขที่ 103/30จากการเคหะแห่งชาติผู้ให้เช่าซื้อ ต่อมาจำเลยได้โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ ก่อนทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2536 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากโจทก์ ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2536โจทก์จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากการเคหะแห่งชาติ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 40252
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทที่ให้จำเลยเช่าซื้อหรือไม่ เห็นว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยนี้ไม่มีมูลหนี้ต่อกันมาก่อน แต่นายสมชายสามีโจทก์กับนายเล็กสามีจำเลยมีนิติสัมพันธ์กันในการที่นายเล็กซึ่งมีสิทธิได้โควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เมื่อนายเล็กมอบบัตรโควต้าของตนให้นายสมชายไปรับแทน โดยนายสมชายต้องชำระเงินค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในนามของนายเล็กไปก่อนเช่นนี้ กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่านายเล็กตัวการให้นายสมชายเป็นตัวแทนในการทำการรับสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย อันเป็นสัญญาตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 797 เมื่อนายสมชายจ่ายเงินทดรองค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไปก่อนแทนนายเล็กตัวการ ดังนั้น นายสมชายจึงมีสิทธิเรียกเอาเงินชดใช้จากนายเล็กตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่งและวรรคสองทั้งเมื่อนายสมชายกับนายเล็กได้หักทอนบัญชีกันแล้วปรากฏว่านายเล็กยังเป็นหนี้นายสมชายอยู่อีกจำนวนมาก นายเล็กจึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แต่นายเล็กยังไม่ได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น การที่จำเลยโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำดังกล่าวน่าเชื่อและฟังได้ว่า นายเล็กกับจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่นายสมชาย โดยการโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการที่นายสมชายผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่าสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทที่ตีใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม การโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยความยินยอมของนายสมชายสามีโจทก์ย่อมไม่มีผลบังคับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ แม้จะมีการทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าต่อการเคหะแห่งชาติ และโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่การเคหะแห่งชาติเสร็จสิ้น ทั้งได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทมาเป็นของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 40252แล้วก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทที่ให้จำเลยเช่าซื้อไม่
พิพากษายืน

Share