คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดไว้ว่าหากพนักงานผู้ใจจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ถือว่าผิดวินัยขั้นร้ายแรง การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย โดยการชักชวนหรือยุยงให้พนักงานของนายจ้างผละงานหรือละทิ้งการงานในการปฏิบัติหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรง มีเหตุสมควรที่ศาลแรงงานจะสั่งอนุญาตให้นายจ้างลงโทษกรรมการลูกจ้างดังกล่าวด้วยการเลิกจ้างได้

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม2534 ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชักชวนยุยงให้พนักงานแผนกชุบจำนวน 6 คน ผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ขณะเป็นเวลาปฏิบัติงานเป็นเหตุให้พนักงานแผนกชุบเกิดความสับสนวุ่นวายและผละงานละทิ้งหน้าที่ และผู้คัดค้านที่ 1 ได้ละทิ้งหน้าที่ไป จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายเป็นความผิดต่อกฎหมายและผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับข้อ 12 และข้อ 18 ซึ่งมีโทษไล่ออก ขอศาลอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม2534 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ผู้คัดค้านทั้งสองไปที่บริษัทผู้ร้องเพื่อจะทำงานในวันหยุด หลังจากผู้คัดค้านที่ 1 ตอกบัตรเพื่อเข้าทำงานแล้ว นางคำวิรัตน์ นิที รองผู้จัดการของผู้ร้องได้บอกผู้คัดค้านทั้งสองว่าต่อไปไม่ต้องมาทำงานในวันหยุดเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 สอบถามสาเหตุ นางคำวิรัตน์ก็ไม่ชี้แจงให้ทราบ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงบอกลูกน้องในแผนกชุบว่าวันนี้มีปัญหาผู้ร้องไม่ยอมให้ทำงานในวันหยุด แล้วผู้คัดค้านที่ 1 ได้ตอกบัตรออกจากบริษัทไป ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกเมื่อถูกสั่งห้ามเข้าทำงานทำให้ลูกน้องในแผนกหวั่นไหว ต้องไปถามผู้จัดการใหญ่ว่าสั่งห้ามทำงานทั้งแผนกหรือไม่ เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของนางคำวิรัตน์ ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ร่วมกันชักชวนหรือยุยงพนักงานชุบให้ผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ หรือมีเจตนาทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสองได้ห้ามไม่ให้พนักงานของผู้ร้องซึ่งเป็นลูกน้องของผู้คัดค้านทั้งสองในแผนกชุบทำงานตามหน้าที่ อันเป็นการชักชวนยุยงพนักงานของผู้ร้องให้ผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ขณะเป็นเวลาปฏิบัติงาน ถือว่าเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อห้ามทางวินัยขั้นร้ายแรง แม้ผู้ร้องจะไม่ได้รับความเสียหายอันไม่เป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 18 ก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านทั้งสองจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายด้วยการชักชวนยุยงพนักงานของผู้ร้องละทิ้งงานในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นกรณีความผิดร้ายแรง มีเหตุอันสมควรให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองได้ สำหรับค่าชดเชยนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องมีคำสั่งภายหลังที่ศาลสั่งอนุญาตให้ลงโทษแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองด้วยการเลิกจ้างคำขอนอกจากนี้ให้ยก ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองที่พูดจาชักชวนยุยงไม่ให้พนักงานของผู้ร้องทำงานนั้น ผู้ร้องไม่ได้รับความเสียหายเพียงแต่อาจเกิดความเสียหายเท่านั้นไม่เป็นการผิดวินัยร้ายแรงแต่อย่างใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเอกสารหมาย ร.5 ข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่า หากพนักงานผู้ใดจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ถือว่าผิดวินัยขั้นร้ายแรง ที่ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ว่าผู้ร้องไม่ได้รับความเสียหาย เพียงแต่อาจเกิดความเสียหาย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ผิดวินัยตามข้อ 2 เห็นว่า เพียงแต่ผู้คัดค้านทั้งสองจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย โดยการชักชวนหรือยุยงให้พนักงานของผู้ร้องผละงานหรือละทิ้งการงานในการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นการกระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรง มีเหตุอันสมควรที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share