แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นลูกจ้างและกรรมการบริษัทโจทก์โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ ในชั้นพิจารณาจำเลยก็เบิกความว่าจำเลยเคยเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและตามทางนำสืบของจำเลยจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงาน โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าโจทก์โดยผิดขั้นตอนหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติ และจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า 9 ราย รวมเป็นเงิน16,300,000 บาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน 9 แปลง ตีราคาตามราคาประเมินได้ราคาไม่คุ้มหนี้ ลูกค้าทั้ง 9 ราย จึงไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา โจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกค้าทั้ง 9 รายเพียง 31,041.09 บาท ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ลูกค้าค้างชำระคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์รวมตลอดถึงค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับโดยชัดแจ้งแล้วหาใช่เป็นกรณีที่ความเสียหายยังไม่เกิดและไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายไม่ จำเลยอนุมัติให้ลูกค้ากู้เงินโดยผิดระเบียบ โดยมีที่ดินจำนองไว้เป็นประกันตีราคาตามราคาประเมิน แต่ที่ดินอาจจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อมีการบังคับจำนอง ราคาประเมินที่โจทก์กล่าวอ้างจึงไม่ใช่ราคาที่แท้จริงในการประเมินค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับราคาประเมิน แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่ได้บังคับชำระหนี้จากตัวลูกหนี้และหลักประกัน จึงไม่อาจทราบความเสียหายที่แท้จริงได้ ดังนั้นถ้ามีการบังคับจำนองที่ดินที่เป็นหลักประกันได้ราคาที่ดินมามากกว่าราคาประเมินตามฟ้องโจทก์ ราคาที่ดินส่วนที่มากกว่านี้ย่อมเป็นคุณแก่จำเลย ต้องนำมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ด้วย โจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นค่าเสียหายที่เป็นหนี้เงินตามจำนวนที่จำเลยให้ลูกค้ากู้ยืมโดยฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก คืออัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี มิใช่ดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากลูกค้าของโจทก์ตามสัญญากู้ในทางการค้าของโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ในระหว่างวันที่1 สิงหาคม 2522 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2527 จำเลยเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการบริษัทโจทก์ โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนายการขณะนั้นจำเลยลงลายมือชื่อร่วมกับนายอภิวัฒน์ อรรครัตนกุลกรรมการผู้จัดการและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ จำเลยมีหน้าที่พิจารณาให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินตามกิจการที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยจำเลยต้องปฏิบัติตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติที่โจทก์กำหนดไว้และตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จำเลยมีหน้าที่พิจารณาตัดสินใจแทนโจทก์ หากปรากฏว่าหลักทรัพย์ของลูกค้าที่เสนอเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน มีราคาต่ำกว่าหรือไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่ลูกค้าขอกู้แล้ว จำเลยจะต้องปฏิเสธไม่ให้ลูกค้ากู้ยืมทุกรายไป จำเลยจะพิจารณาผ่อนผันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2526 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2527 จำเลยให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าโจทก์โดยผิดขั้นตอน หลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติตามที่โจทก์ปฏิบัติ และจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 54 เท่าที่โจทก์ตรวจพบในขณะฟ้องคดีนี้รวม 9 ราย คิดเป็นเงินรวม 16,300,000 บาท ในการให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าทั้ง 9 รายดังกล่าว แทนที่จำเลยจะให้ลูกค้าเสนอเรื่องขอกู้ยืมเงินต่อนายวิบูลย์ชัย หงษ์ศรีจินดา เพื่อผ่านขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบ จำเลยกลับมีคำสั่งให้นายวิบูลย์ชัย หงษ์ศรีจินดาเสนอเรื่องขออนุมัติให้ลูกค้าทั้ง 9 รายกู้ยืมเงิน โดยไม่ตรวจสอบฐานะของลูกค้า วัตถุประสงค์ที่ขอกู้ไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์และประเมินราคาหลักทรัพย์ จำเลยได้อนุมัติให้ลูกค้าทั้ง 9 รายกู้เงินไปจากโจทก์ทันที อันเป็นการละเว้นการที่ควรต้องกระทำตามหน้าที่วิชาชีพของจำเลย และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยยอมรับหลักทรัพย์ของลูกค้าทั้ง 9 ราย จำนองเป็นประกันไว้แก่โจทก์ทั้งที่จำเลยทราบเป็นอย่างดีว่าหลักทรัพย์ที่รับจำนองไว้นั้นมีราคาไม่คุ้มกับหนี้แต่ละรายที่ให้กู้ยืมไป โจทก์เพิ่งทราบการกระทำของจำเลยดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 ภายหลังจากที่จำเลยออกจากกรรมการและลูกจ้างของโจทก์แล้ว พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่ามีเจตนาฝ่าฝืนขั้นตอน หลักเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติในการให้กู้ยืมเงิน และจำเลยจงใจฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 54 อันเป็นการละเว้นการที่ควรต้องกระทำตามหน้าที่ในวิชาชีพของจำเลย เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและนอกเหนืออำนาจตามที่โจทก์มอบหมาย และได้กระทำในขณะที่เป็นลูกจ้างโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือ โจทก์ต้องให้ลูกค้าทั้ง 9 รายกู้ยืมเงินไปรวมทั้งสิ้น 16,300,000 บาท โดยที่หลักทรัพย์จดทะเบียนจำนองเป็นประกันไม่คุ้มหนี้ ลูกค้าทั้ง 9 รายจึงไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา โจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกค้าทั้ง 9 รายเพียง 31,041.09 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดใช้คืนเงินต้นจำนวน16,268,958.91 บาท ที่ค้างชำระอยู่ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยของสัญญากู้แต่ละฉบับ คิดตั้งแต่วันที่ลูกค้าแต่ละรายผิดนัดชำระจนถึงวันฟ้อง ขอให้จำเลยใช้เงินจำนวน 31,180,233.72 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบแปดต่อปีของต้นเงิน3,980,000 บาท และสิบเก้าครึ่งต่อปีของต้นเงิน 12,288,958.91 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะฟ้องโจทก์เป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของตน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 และ 812 โดยเฉพาะ กรณีเช่นนี้จะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริงตามกฎหมายแก่โจทก์แล้วค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องทั้งหมด ไม่ได้เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงตามกฎหมาย เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ตามอำเภอใจเพราะโจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิตามสัญญาตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีจนสามารถจะทราบความเสียหายตามกฎหมายได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง และต่อสู้คดีอีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยพิจารณาปล่อยสินเชื่อตามฟ้อง 9 ราย โดยไม่ได้ตรวจสอบหลักทรัพย์และประเมินราคาที่ดินก่อน ไม่มีการตรวจสอบฐานะของผู้กู้ ในคำขอกู้ไม่ระบุวัตถุประสงค์หรือระบุไม่ชัดแจ้ง จำเลยอนุมัติให้กู้โดยรวบรัดไม่ผ่านเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบการให้กู้ยืมเงินของโจทก์ โดยอนุมัติให้ลูกค้ากู้ยืมเงิน 9 รายเป็นเงิน 16,300,000 บาท แต่มีที่ดินจำนองไว้เป็นประกัน 9 แปลงมีราคาประเมินเพียง 4,618,500 บาท เท่านั้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 11,681,500 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 มกราคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก่อน จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการนั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนจำเลยมีความสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 มีลักษณะเป็นตัวการตัวแทน คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางและศาลแรงงานกลางจะยกเอาอายุความ 10 ปี เรื่องสัญญาจ้างแรงงานมาปรับวินิจฉัยไม่ได้ โจทก์ฟ้องเมื่อเกิน 1 ปีนับแต่รู้ถึงความเสียหาย ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยโดยมิได้ฟ้องบังคับคดีเอาจากตัวลูกหนี้และจากที่ดิน9 แปลงซึ่งได้จำนองไว้เป็นหลักประกันก่อน เห็นได้ว่าความเสียหายของโจทก์ยังไม่เกิด ไม่มีเหตุที่จะมาวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาความเสียหายเอาจากราคาประเมินที่ดินที่ใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีโดยมิได้บังคับขายทอดตลาดก่อน ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่1 สิงหาคม 2522 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2527 จำเลยเป็นลูกจ้างและกรรมการบริษัทโจทก์โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ ในชั้นพิจารณาจำเลยยังเบิกความว่า จำเลยเคยเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง 2527 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,000 บาท ได้ลาออกจากบริษัทโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16พฤศจิกายน 2527 ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและตามทางนำสืบของจำเลยจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ หาใช่วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานกลางและการที่ศาลแรงงานกลางนำเอาหลักกฎหมายเรื่องสัญญาจ้างแรงงานมาปรับแก่คดีว่า คดีนี้มีอายุความ 10 ปี ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยไม่ได้ฟ้องบังคับเอาจากตัวลูกหนี้และบังคับจากที่ดิน 9 แปลงซึ่งได้จำนองไว้เป็นหลักประกันก่อนนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าโจทก์โดยผิดขั้นตอน หลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติและจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า 9 ราย รวมเป็นเงิน 16,300,000 บาทโดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน 9 แปลงตีราคาตามราคาประเมินได้ราคาประเมินได้ราคาไม่คุ้มหนี้ ลูกค้าทั้ง 9 รายจึงไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา โจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกค้าทั้ง 9 รายเพียง 31,041.09 บาท เท่านั้นขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ลูกค้าค้างชำระคำฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์รวมตลอดถึงค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับโดยชัดแจ้งแล้ว หาใช่เป็นกรณีที่ความเสียหายยังไม่เกิดและไม่มีเหตุที่จะมาวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ส่วนความรับผิดของจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยอนุมัติให้ลูกค้ากู้เงินโดยผิดระเบียบจำนวน 16,300,000 บาท แต่มีที่ดินจำนองไว้เป็นประกัน 9 แปลง รวมราคาตามราคาประเมินเป็นเงิน 4,618,500 บาทเมื่อนำเอาราคาที่ดินมาหักลบแล้ว ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 11,681,500 บาท แต่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกค้าจำนวน 31,041.09 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดใช้คืนเงินต้น 16,268,958.91 บาท เท่านั้น ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากต้นเงิน 16,300,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้โจทก์ได้กำหนดราคาที่ดิน 9 แปลง ที่จำนองประกันหนี้เงินกู้มาโดยตีราคาตามราคาประเมินของทางราชการในระหว่าง พ.ศ. 2526 ถึง 2527มีราคารวมจำนวน 4,618,500 บาท และศาลแรงงานกลางได้ถือเป็นราคาที่ดินในการหักค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ลูกค้าได้วางหลักประกันด้วยการจำนองที่ดินหลักประกันคือที่ดินซึ่งอาจจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อมีการบังคับจำนองราคาประเมินที่โจทก์กล่าวอ้างจึงไม่ใช่ราคาที่แท้จริงในการประเมินค่าเสียหาย แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับราคาประเมินแต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่ได้บังคับชำระหนี้จากตัวลูกหนี้และหลักประกัน จึงไม่อาจทราบความเสียหายที่แท้จริงได้ดังนั้นถ้ามีการบังคับจำนองที่ดินทั้ง 9 แปลงที่เป็นหลักประกันได้ราคาที่ดินมามากกว่าราคาประเมินตามฟ้องโจทก์ ราคาที่ดินส่วนที่มากกว่านี้ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยและจะต้องนำมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ด้วย
ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยคือต้นเงิน 16,268,958.91 บาท กับดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากลูกค้าเป็นเงิน 14,911,274.81 บาท แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยในการกู้ยืมหรือจำนอง จึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบแปดหรือสิบเก้าครึ่งต่อปีตามสัญญาได้ โจทก์อาจเรียกดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามกฎหมายนั้น โจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องจำนวน 14,911,274.81 บาทนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาตามฟ้องนั้น เป็นดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากลูกค้าของโจทก์ตามสัญญากู้ในทางการค้าของโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าได้ในอัตราที่กำหนดไว้ตามข้อสัญญา แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นค่าเสียหายที่เป็นหนี้เงินตามจำนวนที่จำเลยให้ลูกค้ากู้ยืมโดยฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก คืออัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 11,650,458.91 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 มกราคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ทั้งนี้โจทก์จะต้องบังคับจำนองที่ดินทั้ง 9 แปลงตามฟ้องก่อนถ้าได้เงินมาเกินกว่า 4,618,500 บาท เท่าใด เงินส่วนที่เกินนั้นให้นำมาหักจากจำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีนี้.