คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3350/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีผู้นำเข้าหรือลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้า ค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้โดยเฉพาะแล้วกล่าวคือ ในส่วนที่เป็นเงินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มเป็นกรณีที่ตรวจเก็บอากรขาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 102 ตรี (3) ซึ่งมาตรา 112 จัตวาวรรคแรกห้ามมิให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม ส่วนกรณีภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยเงินเพิ่มจะต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ดังนั้นจึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเขากวางอ่อนเข้ามาในราชอาณาจักรต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยสำแดงราคาไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงทำให้ภาษีอากรที่จำเลยชำระไว้แล้วขาดไป ขอให้บังคับจำเลยชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มและเงินเพิ่มภาษีการค้า รวมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินภาษีทั้งหมดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ราคาเขากวางอ่อนที่จำเลยสำแดงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็พอใจในราคานั้น จึงไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสำแดงราคาเขากวางอ่อนในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์ชอบที่จะประเมินราคาใหม่ได้ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าในส่วนที่เป็นเงินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มนั้น เป็นกรณีที่มีการตรวจเป็นอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบเป็นผลให้เรียกอากรเพิ่มเติมได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งตามมาตรา 112 จัตวา วรรคแรกบัญญัติไว้มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในกรณีนี้และในส่วนที่เป็นภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม รวมทั้งเงินเพิ่มของภาษีทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าวนั้น ประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าที่ไม่ชำระภาษีให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ก็แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้าและหนี้ค่าภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาลไว้โดยเฉพาะแล้วตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวในกรณีอากรขาเข้ากฎหมายไม่ประสงค์จะให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม ซึ่งเทียบเคียงได้เท่ากับว่าเป็นค่าดอกเบี้ยนั่นเอง และในกรณีภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลกฎหมายมุ่งประสงค์เพียงที่จะเรียกเอาเป็นเงินเพิ่มไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่านั้น ซึ่งโจทก์รวมคิดมาครบถ้วนแล้ว ทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย
พิพากษายืน.

Share