คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ จำเลยให้การว่าที่ดินตามโฉนดของโจทก์มีอาณาเขตติดกับที่ดินตามโฉนดของจำเลยจริง จำเลยไม่ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ และว่าที่พิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว ประเด็นจึงมีว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์หรือจำเลยเท่านั้นโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยมิได้ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในโฉนด หรือต่อสู้ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์ โจทก์จะยกเอาข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 มาเป็นประโยชน์ในคดีนี้ว่าจำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายข้อนี้ จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน ดังนี้ ย่อมไม่ได้
เมื่อศาลฟังว่า ที่พิพาทอยู่ในโฉนดของจำเลยทั้งสอง มิได้ฟังว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งอยู่ในโฉนดของโจทก์ซึ่งเป็นวัด ไม่จำต้องหยิบยกเอาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ใช้บังคับ
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด ไม่ใช่ที่ดินในโฉนดของโจทก์ แม้จำเลยจะไม่ฟ้องแย้งด้วย ก็มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอยู่แล้วว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินในเขตโฉนดของโจทก์หรือของจำเลย ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามประเด็นนั้นได้โดยไม่ต้องให้จำเลยฟ้องแย้ง คำวินิจฉัยของศาลที่เชื่อว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของจำเลยพิพากษายกฟ้อง จึงเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็น ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๒๕๔๔ เป็นที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ มีอาณาเขตติดกับที่ดินโฉนดที่ ๒๕๔๑ ของจำเลยที่ ๑ และที่ดินโฉนดที่ ๒๕๔๒ ของจำเลยที่ ๒ มีคันนาระหว่างที่ดินโจทก์จำเลย จำเลยขุดทำลายคันนาและบุกรุกเข้าไปยกคันนาใหม่ในที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาห้ามจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดที่ ๒๕๔๔ ของโจทก์มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดที่ ๒๕๔๑ ของจำเลยที่ ๑ และที่ดินโฉนดที่ ๒๕๔๒ ของจำเลยที่ ๒ ทางด้านใต้จริง เป็นที่ดินที่จำเลยแต่ละคนได้มาทางมรดกและได้ครอบครองมาเป็นเวลาเกินกว่า ๕๐ ปีแล้ว ไม่เคยทำลายคันเขตและบุกรุก
ศาลชั้นต้นให้โจทก์สืบก่อน โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นว่าควรให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ๓ ข้อ
ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องโจทก์ซึ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยบุกรุกที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์และเป็นที่ธรณีสงฆ์ กับคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ และว่าที่พิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้วประเด็นที่จะต้องพิจารณาจึงมีเพียงว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์หรือจำเลยเท่านั้นโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานมาสืบก่อน อนึ่ง ตามคำให้การของจำเลยก็เห็นได้อยู่แล้วว่า จำเลยมิได้ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในโฉนด หรือต่อสู้ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์โจทก์จะยกเอาข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๓ มาเป็นประโยชน์ในคดีนี้ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายข้อนี้ จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายนำพยานมาสืบก่อนดังโจทก์กล่าวหาได้ไม่
ปัญหาข้อกฎหมายข้อสองนั้น ปรากฏจากข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันเป็นที่ยุติแล้วว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของจำเลยทั้งสอง มิได้ฟังว่า ที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ ก็ไม่จำต้องหยิบยกเอาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติว่าด้วยที่ธรณีสงฆ์มาพิจารณาใช้บังคับแก่คดีนี้เพราะไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงที่ธรณีสงฆ์
ส่วนปัญหาข้อกฎหมายข้อสุดท้ายนั้น เห็นว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีไว้โดยชัดแจ้งว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด ไม่ใช่ที่ดินในเขตโฉนดของโจทก์แม้จำเลยจะมิได้ฟ้องแย้งมาด้วยก็ตาม ก็มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอยู่ว่าที่พิพาทเป็นที่ดินในเขตโฉนดของโจทก์หรือของจำเลย ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามประเด็นนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องให้จำเลยฟ้องแย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองที่เชื่อว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของจำเลยทั้งสอง จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแล้ว หาได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๒ ดังโจทก์ฎีกาไม่
พิพากษายืน

Share