คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารอยู่ในกระดาษฟูลสะแก็ปแผ่นเดียวกัน2ซีก ซีกหนึ่งเป็นพินัยกรรม อีกซีกหนึ่งเป็นสัญญาผูกแก้(สัญญาเช่าอย่างหนึ่ง) จำเลยได้ฉีกกระดาษ 2 ซีกแผ่นนี้ให้ขาดออกจากกันเป็นซีกละแผ่น (ข้อความคงเดิม)และจำเลยฉีกก่อนจำเลยได้รับหมายเรียกจากศาลให้ส่งพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพยาน เช่นนี้ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 เพราะขณะฉีกเอกสารรายนี้ยังไม่ใช่เอกสารที่ศาลสั่งให้จำเลยส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน
อนึ่ง เมื่อจำเลยฉีกให้ขาดโดยไม่ได้ทำให้โจทก์หรือผู้ใดเสียหาย และโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยเจตนาทำให้เอกสารไร้ประโยชน์ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์ อ้างพินัยกรรมของนายถึก นางเหลี่ยม ซึ่งอยู่ที่จำเลยศาลหมายเรียกให้จำเลยส่งพินัยกรรมดังกล่าว จำเลยส่งพินัยกรรมนี้ต่อศาล ทนายโจทก์ตรวจดูแล้วปรากฏว่าจำเลยนำส่งต่อศาลเพียงพินัยกรรมซึ่งเป็นกระดาษฟุลสะแก็ปซีกเดียว ไม่มีสัญญาผูกแก้ที่เขียนอยู่ในกระดาษฟุลสะแก็ปอีกซีกหนึ่ง โจทก์แถลงคัดค้านจำเลยจึงนำสัญญาผูกแก้ดังกล่าวมาส่งศาล จำเลยรับต่อศาลว่าเดิมเป็นเอกสาร 2 ซีกติดกัน โจทก์อ้างแต่พินัยกรรมเท่านั้น จำเลยจึงฉีกซีกที่เป็นสัญญาผูกแก้ออกไว้เสีย การกระทำของจำเลยทำให้เสียหายซึ่งเอกสารที่ศาลให้ส่งเป็นพยาน และทำให้เสียหายซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตประสงค์จะบิดเบือนข้อเท็จจริงแห่งคดี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142, 188

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษาว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารรายนี้อยู่ในกระดาษฟุลสะแก็ปแผ่นเดียวกันซึ่งมี 2 ซีก โดยซีกหนึ่งเป็นพินัยกรรม อีกซีกหนึ่งเป็นสัญญาผูกแก้ (สัญญาเช่าอย่างหนึ่ง) จำเลยได้ฉีกกระดาษ 2 ซีกแผ่นนี้ให้ขาดออกจากกันเป็นซีกละแผ่น (ข้อความมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น) และฉีกออกเช่นนี้ตั้งแต่ก่อนโจทก์ถูกจำเลยฟ้องคดีแพ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งฉีกเมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกพินัยกรรมนั้นจากศาลแล้วข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 เพราะเมื่อจำเลยฉีก เอกสารรายนี้หาใช่เอกสารที่ได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 ไม่

อนึ่ง เมื่อจำเลยฉีกให้ขาดเช่นนั้น ไม่ได้ทำให้โจทก์หรือผู้ใดเสียหาย และโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยเจตนาทำให้เอกสารนั้นไร้ประโยชน์ จำเลยก็ไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย

Share