คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 5,000 บาท แล้วนำสืบว่าจำเลยเคยยืมเงินโจทก์ที่ 1 บิดาโจทก์ที่ 2 ไป 2,800 บาท ไม่ได้ทำสัญญากัน ต่อมาขอยืมอีก โจทก์ที่ 1 ให้ถามโจทก์ที่ 2 ดู โจทก์ที่ 2 ให้ยืมและได้เขียนสัญญากู้กันเป็นเงิน 5,000 บาท และโจทก์ที่ 2 ได้จ่ายเงินอีก 2,200 บาท ให้จำเลยไปแล้ว ดังนี้ แม้จะมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์มาก่อน 2,800 บาท แต่ก็เป็นเรื่องโจทก์นำสืบถึงความเป็นมาของจำนวนเงินกู้ตามสัญญา จึงไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็น
แม้ในสัญญากู้ดังกล่าวนั้นจะมิได้ระบุว่าได้ทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ที่ 2 ด้วย แต่ในช่องผู้ให้กู้ยืม คือเจ้าของเงินนั้น โจทก์ที่ 2 ได้ลงชื่อร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นคู่สัญญากับจำเลยด้วย มีอำนาจฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๐๑ เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ได้รับเงินไปเสร็จแล้ว ปรากฏตามสัญญากู้ท้ายฟ้อง จำเลยไม่ชำระเงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ได้ทำสัญญาท้ายฟ้องกับโจทก์จริง แต่รับเงินไป ๒,๒๐๐ บาท ส่วนอีก ๒,๘๐๐ บาทนั้นคิดเป็นดอกเบี้ยล่วงหน้าเข้าไว้ด้วยแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากตามเจตนาแท้จริงได้ตกลงกันไว้ว่าให้ที่ดินเป็นประกันเงินกู้หลุดเป็นสิทธิตีใช้หนี้โจทก์ แต่ถ้าจำเลยเอาที่ดินคืนหรือเนื้อที่ไม่ได้ตามที่เอาประกันไว้ โจทก์จะเอาดอกเบี้ย ๒,๘๐๐ บาทพร้อมด้วยเงินต้นคืน ต่อมาที่ดินเนื้อที่น้อยลง โจทก์ไม่เอาที่ดินมาฟ้องเอาต้นเงินเกินความจริง โจทก์ที่ ๒ มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินกู้แก่โจทก์ ๕,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยยืมเงินโจทก์ที่ ๑ ผู้เป็นบิดาโจทก์ที่ ๒ ไป ๒,๘๐๐ บาท ไม่ได้ทำสัญญากัน ต่อมาจำเลยมาขอยืมเงินโจทก์ที่ ๑ อีก โจทก์ที่ ๑ ไม่มีว่าให้ถามโจทก์ที่ ๒ ดู โจทก์ที่ ๒ ว่ามี แต่ต้องทำสัญญาจึงจะให้ยืม จำเลยก็ตกลงยืมและได้เขียนสัญญากู้กันเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๒ ได้จ่ายเงินอีก ๒,๒๐๐ บาท ให้จำเลยไป
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่คู่สัญญา ไม่มีอำนาจฟ้อง (สัญญากู้ท้ายฟ้อง มีข้อความตอนต้นว่า จำเลยได้ทำหนังสือกู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์ที่ ๑ แต่ในช่องผู้ให้กู้ยืมเงินท้ายสัญญา มีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสอง) นั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้ในช่องผู้ให้กู้ยืม คือ เจ้าของเงินนั้นโจทก์ที่ ๒ ได้ลงชื่อไว้แล้ว จึงถือได้ว่าเป็นคู่สัญญากับจำเลยนั้น ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายในฟ้องว่าจำเลยเคยกู้เงินโจทก์มาก่อน ๒,๘๐๐ บาท โจทก์จะนำสืบไม่ได้ เป็นการนอกประเด็นนั้น เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องโจทก์นำสืบถึงความเป็นมาของจำนวนเงินกู้ตามที่ปรากฏในสัญญา โจทก์จึงนำสืบได้ หาใช่นอกประเด็นไม่
พิพากษายืน

Share