คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 497/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้มีข้อสัญญาว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ตามกฎหมายย่อมถือว่ามีอัตราร้อยละ7 ครึ่งต่อปี เพราะกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และจะรับฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราดังกล่าวนี้ไม่ได้แม้ใบรับเงินที่ผู้ให้กู้ออกให้แก่ผู้กู้จะปรากฏอัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี หรือเกินกว่านั้น ก็ไม่เป็นหลักฐานที่หักล้างว่าไม่ใช่ร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี เพราะมิได้มีลายมือชื่อของผู้กู้ซึ่งเป็นฝ่ายต้องรับผิดในหนี้
เมื่อตามข้อสัญญาต้องถือว่าดอกเบี้ยมีอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและผู้กู้ก็เข้าใจเช่นนั้นถ้าผู้กู้ชำระดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้เกินกว่าอัตราดังกล่าวโดยไม่มีความเข้าใจผิดและไม่ปรากฏว่าผู้ให้กู้บังคับเรียกร้องเอา ก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จะเรียกส่วนที่ชำระเกินไปนั้นคืนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินไป 50,000 บาท สัญญาให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้ร้อยละ 5 สลึง กับอีก 3 สลึงให้เป็นค่านายหน้าแก่ผู้มีชื่อรวมเป็น 2 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 18 เดือน แล้วชำระร้อยละ 5 สลึง ต่อเดือนจนถึงมิถุนายน 2503 นับแต่เดือนกรกฎาคม 2503 เป็นต้นมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินต้น50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 สลึงถึงวันฟ้อง 3,125 บาท กับค่าเสียหายเป็นค่าพาหนะไปทวงถาม 300 บาทและดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายคือร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตกลงว่าส่งดอกเบี้ยและเงินต้นไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท การชำระจนถึงเดือนมิถุนายน 2503 เป็นการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม 2503 ค้างชำระเงินต้นอยู่เพียง 22,100 บาทเศษ ดอกเบี้ยค้างถึงวันฟ้อง 621 บาทเศษ จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเมื่อชำระถึงเดือนมิถุนายน 2503 แล้วจำเลยเห็นว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงงดส่งดอกเบี้ยไว้ โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยตามฟ้องและเรียกค่าเสียหายมิได้ ขอให้ยกฟ้อง และเนื่องจากจำเลยได้ส่งเงินให้โจทก์ต่างหากจากดอกเบี้ยตามสัญญาเป็นจำนวนสองหมื่นบาทเศษ หากโจทก์รับไว้โดยฝ่าฝืนกฎหมายจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยขอเรียกคืนมาหักหนี้ตามฟ้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่เคยตกลงให้ส่งดอกเบี้ยและเงินกู้เป็นรายเดือนและจะคิดหักจากเงินต้น จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยให้โจทก์โดยไม่ทักท้วงอิดเอื้อน เงินที่จำเลยชำระให้ไม่ใช่ลาภมิควรได้และการเรียกคืนก็ขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้น 50,000 บาท ดอกเบี้ยที่ค้าง 3,125 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้น 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้น 50,000 บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม 2503 ไปจนถึงวันฟ้อง แต่ไม่เกิน 3,125 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

1. สัญญากู้ข้อ 2 มีความว่า “ผู้กู้ (จำเลย) ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ (โจทก์) ตามกฎหมาย ฯลฯ” กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 เพราะสัญญาให้มีการเรียกดอกเบี้ยได้ แต่มิได้กำหนดอัตราไว้ หรือมีบทกฎหมายอื่นกำหนดให้ไว้โดยเฉพาะ อัตรานี้จึงต้องเป็นร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จะแปลว่าให้เรียกได้ร้อยละสิบห้าต่อปีมิได้ เพราะการเรียกเช่นนี้ต้องมีข้อสัญญากำหนดไว้ และจะรับฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ ใบรับเงินที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยซึ่งปรากฏจำนวนเงินตามใบรับเงินระยะแรกเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน และเดือนต่อมาเท่ากับร้อยละสิบห้าต่อปีก็หาเป็นหลักฐานที่หักล้างได้ไม่เพราะมิได้มีลายมือชื่อของจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายต้องรับผิดในหนี้รายนี้

2. ตามใบรับเงินฟังไม่ได้ว่าการชำระเงินแก่โจทก์เป็นรายเดือนนั้น จำเลยได้ผ่อนเงินต้นด้วย เมื่อการกู้รายนี้ต้องเข้าใจว่าดอกเบี้ยมีอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีดังได้วินิจฉัยแล้ว และปรากฏว่าจำเลยก็เข้าใจเช่นนั้น แต่จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เกินกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเช่นนี้ จำเลยจะเรียกส่วนที่ชำระเกินไปนั้นคืนไม่ได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเกินร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี การชำระเกินไปโดยไม่มีความเข้าใจผิดและไม่ปรากฏว่าโจทก์บังคับเรียกร้องเอา ย่อมเป็นการกระทำไปตามอำเภอใจของจำเลย ต้องตามมาตรา 407

พิพากษายืน

Share