คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์ผู้ให้เช่าในฐานะโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ พ. หาได้เช่าจากมูลนิธิ พ. ไม่ทั้งโฉนดที่ดิน ซึ่งตึกพิพาทตั้งอยู่มีชื่อโจทก์เป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนให้แก่ มูลนิธิ พ. ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดก ยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ยังมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัด หรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม เพื่อจัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า เมื่อผู้เช่าผิดสัญญา ผู้ให้เช่าย่อมฟ้องผู้เช่าซึ่งเป็นคู่สัญญากับตนได้ และผู้เช่าจะโต้แย้งว่าผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่า หาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเพราะไม่ยอมออกจากตึกที่เช่า และส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายหลังครบกำหนดตามสัญญาแล้ว การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้า จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทจากผู้จัดการมรดกของนางพร้า กำหนดชำระค่าเช่าภายในวันที่ ๑ ของทุกเดือนเดือนละ ๒๐๐ บาท ระยะเวลาเช่า ๔ ปี ๕ เดือน ครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่ยอมส่งมอบ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน ทรัพย์ดังกล่าวเป็นของมูลนิธิพร้า นีลวัชระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากห้องพิพาทและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์ ผู้ให้เช่าในฐานะโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้า หาได้เช่าจากมูลนิธิพร้า นีลวัชระ ไม่ ทั้งโฉนดที่ดินซึ่งตึกพิพาทตั้งอยู่ตามสารบัญการจดทะเบียนมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนให้แก่มูลนิธิพร้า นีลวัชระ ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดก จึงต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ยังมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม เพื่อจัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๙ ย่อมหมายถึงทรัพย์มรดกที่โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าไปด้วย ผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า เมื่อผู้เช่าผิดสัญญา ผู้ให้เช่าย่อมฟ้องผู้เช่าซึ่งเป็นคู่สัญญากับตนได้ และผู้เช่าจะโต้แย้งว่าผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า เพราะไม่ยอมออกจากตึกที่เช่าและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้ว การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งความเป็นจริงได้
พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาทและส่งมอบตึกคืนโจทก์ ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

Share