แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยต่างมีรูปปลาตัวหนึ่งอยู่ตรงกลางของโจทก์ส่วนกลางลำตัวปลาแนบอยู่บนรูปเพชรมีอักษรภาษาไทยว่า”ตราปลา-เพชร” อยู่ด้านล่าง ของจำเลยมีรูปคนผู้ชายยืนอยู่ภายในและบนเส้นรอบวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางวงกลมยาวไปตามลำตัวปลา ด้านล่างมีอักษรโรมันอ่านว่า เซอร์เคิลแมนแบรนด์ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้นำมาจดทะเบียนไว้แล้วไม่ทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 13 มีรูปลักษณะดังที่ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.6 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วเพื่อสินค้าจำพวกเดียวกันยื่นคำร้องคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 22 (ที่แก้ไขแล้ว) มีความเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองรายนี้ไม่เหมือนกันหรือคล้ายกัน การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดขึ้นได้ วินิจฉัยให้ยกคำร้องคัดค้านของโจทก์ และให้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่อไป รายละเอียดปรากฏตามคำวินิจฉัยที่โจทก์จำเลยต่างอ้างเอกสารหมาย จ.4 และ ล.5 โจทก์นำคดีมาสู่ศาลศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง โจทก์ฎีกา ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างมีรูปปลาเห็นประจักษ์อยู่ประชาชนจะเรียกขานว่า “ตราปลา” ย่อมให้เกิดความสับสนหลงผิดนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนบังคับตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ กับของจำเลยที่ร้องขอจดทะเบียนต่างมีรูปปลาตัวหนึ่งอยู่ตรงกลาง ลำตัวปลาเหยียดตรงยาวไปตามแนวซ้าย – ขวาเช่นกัน แต่หันหัวไปในทิศทางตรงข้ามกัน โดยเฉพาะเครื่องหมายของโจทก์ส่วนกลางลำตัวปลาแนบอยู่บนรูปเพชร อยู่ประมาณกึ่งกลางของรูปเพชร และมีอักษรภาษาไทยว่า “ตราปลา – เพชร” อยู่ด้านล่างเรียงขนานไปตามความยาวของลำตัวปลา ความสูงของตัวอักษรใกล้เคียงกับความกว้างตรงกลางลำตัวปลา ทั้งรูปปลา รูปเพชร และตัวอักษรมีขนาดใกล้เคียงกัน มองดูกลมกลืนกัน ดังนี้ย่อมจะเรียกขานกันว่า “ตราปลา – เพชร” จะไม่เรียกว่า “ตราปลา” หรือ “ตราเพชร” อย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว ส่วนของจำเลยมีรูปคนผู้ชายในท่าทางที่ประดิษฐ์ขึ้นยืนอยู่ภายในและบนเส้นรอบวงกลม ซึ่งเส้นผ่าศูนย์กลางวงกลมยาวไปตามลำตัวปลา แต่สั้นกว่าลำตัวปลาเล็กน้อย ส่วนหัวและหางปลาอยู่นอกวงกลม แต่ละส่วนของหัวปลาและหางปลายาวประมาณ 1 ใน 5 ส่วนของความยาวลำตัวปลา ด้านล่างมีอักษรโรมันว่า “CIRCLE MAN BRAND” อ่านว่า เซอร์เคิล แมน แบรนด์ แปลว่าตราคนผู้ชายวงกลม เช่นนี้ แม้จะมีรูปปลาอยู่ด้วย แต่รูปลักษณะดังกล่าวย่อมจะเรียกขานกันว่า “ตราคนผู้ชายวงกลม – ปลา” จะไม่เรียกว่า “ตราปลา” แต่อย่างเดียว ดังนี้จึงไม่ทำให้เกิดสับสนในการเรียกขานระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยดังที่โจทก์ฎีกา นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังมีรูปลักษณะต่างออกไปอีก คือ มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตามแนวซ้าย – ขวา ล้อมรอบเครื่องหมายและอักษรตราปลา – เพชรดังกล่าว ภายในกรอบสี่เหลี่ยมทั้งสี่มุมมีลวดลาย กับด้านบนมีอักษรโรมันอ่านว่า “กัว ฮัว หลิม” เป็นชื่อย่อของโจทก์ ด้านหัวและหางปลามีอักษรภาษาจีนอ่านว่า “ซ่วง เจี้ย ฮื้อ เพียว” แปลว่า “ตราปลา – เพชร” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยคงมีรูปลักษณะอยู่เพียงเท่าที่กล่าวมา เหล่านี้ย่อมเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้นำมาจดทะเบียนไว้แล้ว ไม่ทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนดังฎีกาโจทก์”
พิพากษายืน