คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ แม้ศาลชั้นต้นนั้นจะเป็นศาลแขวงคำสั่งของศาลอุทธรณ์ก็หาถึงที่สุดไม่ยังชอบที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต่อมาได้ตามกระบวนความ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2503)

ย่อยาว

ศาลแขวงสุราษฎร์ธานีพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข ปรับ 80 บาท ตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2477 มาตรา 10, 18 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 6

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแขวงวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากท้องสำนวนศาลแขวงสั่งไม่รับอุทธรณ์อ้างว่า เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯ มาตรา 22

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ศาลแขวงฟังข้อเท็จจริงมานั้นฟังตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ใช่นอกสำนวนดังจำเลยอ้าง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย

จำเลยยื่นคำร้องฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นต่อมาอีก และศาลแขวงสั่งรับขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัย

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในคดีอาญาที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์เช่นนี้แม้ศาลชั้นต้นนั้นจะเป็นศาลแขวง คำสั่งของศาลอุทธรณ์ก็หาถึงที่สุดไม่ ยังชอบที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต่อมาได้ตามกระบวนความ เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่มีบัญญัติไว้โดยตรงใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 กรณีจึงต้องด้วย ม.4 ซึ่งระบุให้ใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา, กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องหมายความว่าจะใช้กฎหมายใดนั้น ต้องเป็นไปตามกรณีจะใช้รวมกันทั้งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งพร้อมกัน สภาพหาเปิดช่องให้กระทำเช่นนั้นไม่ แม้พระราชบัญญัตินี้จะเป็น พระราชบัญญัติว่าด้วยคดีอาญา แต่ก็อาจมีคดีแพ่งฟ้องปนกับคดีอาญาได้ ซึ่งในส่วนแพ่งเช่นนี้ ก็ต้องใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉะนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญา ก็ชอบที่จะใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบังคับ คือ ในคดีอาญาฎีกาได้ คำสั่งศาลอุทธรณ์หาได้ยุติดังเช่นในคดีแพ่งซึ่งมีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ไม่ คดีนี้ จำเลยยื่นเป็นคำร้องฎีกาคำสั่งซึ่งความจริงควรเป็นรูปฎีกาธรรมดา แต่เมื่ออ่านถ้อยคำแล้วก็พอเห็นได้ว่าเป็นฎีกาธรรมดา ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้รับมาแล้ว จึงสมควรวินิจฉัยต่อไป ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลแขวงฟังข้อเท็จจริงโดยอาศัยพยานหลักฐานในท้องสำนวน หาได้วินิจฉัยผิดจากท้องสำนวนดังอุทธรณ์ของจำเลยไม่ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นปัญหาในข้อเท็จจริงไม่เป็นปัญหาในข้อกฎหมายแต่อย่างใด ศาลล่างทั้งสองสั่งไม่รับเป็นอุทธรณ์เพราะต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ชอบแล้ว

พิพากษายืนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์

Share