คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘โดยทุจริต’ หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น การที่จำเลยทั้งสองสมคบหลอกลวงโจทก์โดยจำเลยที่ 2 แสดงตนต่อโจทก์ว่าเป็นนายเชวง แซ่ภู่เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3. จนโจทก์หลงเชื่อทำหนังสือรับรองทรัพย์ยื่นขอประกันตัวนายกุหลาบต่อศาลนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์สินแต่อย่างใดก็ตาม ก็ทำให้นายกุหลาบได้รับประโยชน์จากการใช้หนังสือรับรองทรัพย์นั้นอ้างต่อศาลจนได้รับประกันตัวไป ซึ่งย่อมถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน
คำว่า ‘เอกสารสิทธิ’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) นั้นมุ่งหมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งซึ่งสิทธิหรือหนี้สินและเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการเปลี่ยนแปลง โอนหรือระงับซึ่งสิทธิหรือหนี้สินทุกอย่าง หนังสือรับรองทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวจำเลยต่อศาลซึ่งผู้ยื่นหนังสือดังกล่าวรับรองต่อศาลว่า หลักทรัพย์ตามบัญชีคำร้องขอประกันเป็นของผู้ขอประกัน หากบังคับแก่ทรัพย์ตามสัญญาประกันไม่ได้หรือได้ไม่ครบ ผู้ทำหนังสือรับรองทรัพย์ยอมรับผิดใช้เงินจนครบ ซึ่งเท่ากับเป็น หนังสือค้ำประกันผู้ขอประกันตัวอีกชั้นหนึ่งนั้นเป็นเอกสารสิทธิตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ นำจำเลยที่ ๒ มาแสดงตัวต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ ๒ คือนายเชวงแซ่ภู่ และนำที่ดินตาม น.ส.๓ ของนายเชวง แซ่ภู่ มาแสดงว่าเป็นของจำเลยที่ ๒ เพื่อประโยชน์ในการขอประกันตัวนายหลาบหรือกุหลาบ พันเกิดจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๒๓/๒๕๐๗ ของศาลจังหวัดพิจิตรซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ คือนายเชวง แซ่ภู่ และมี่หลักทรัพย์ดังกล่าวจริง จึงได้ทำหนังสือรับรองทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิในการร้องขอประกันตัวนายหลาบหรือกุหลาบ พันเกิดในระหว่างอุทธรณ์ เป็นผลให้ศาลจังหวัดพิจิตรให้ประกันตัวไปซึ่งความจริงจำเลยที่ ๒ หาใช่นายเชวง แซ่ภู่ ไม่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๓๔๒, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๓๔๒ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๒ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยที่ ๑ไว้ ๓ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ ๒ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘จึงไม่ไม่รับฎีกา จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลฎีกาสั่งรับในข้อที่ว่าจำเลยจะมีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ในฎีกาข้อที่ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำโดยทุจริตเพราะการที่จำเลยหลอกลวงให้โจทก์รับรองหลักทรัพย์มิใช่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากโจทก์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๑) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น การที่จำเลยสมคบกันหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยที่ ๒ คือนายเชวง แซ่ภู่ เจ้าของที่ดิน น.ส. ๓จนโจทก์หลงเชื่อทำหนังสือรับรองทรัพย์ยื่นขอประกันตัวนายกุหลาบต่อศาลจังหวัดพิจิตรนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์แต่ประการใด ก็ทำให้นายกุหลาบได้รับประโยชน์โดยใช้หนังสือรับรองทรัพย์นั้นอ้างต่อศาลจนได้รับประกันตัวไปอันเป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นย่อมถือเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน
ฎีกาจำเลยในข้อที่ว่า หนังสือรับรองหลักทรัพย์ที่จำเลยหลอกลวงให้โจทก์ทำขึ้นไม่เป็นเอกสารสิทธินั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑(๙) “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ดังนี้ ย่อมเห็นความมุ่งหมายของเอกสารสิทธิได้ว่า จะต้องเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อตั้งซึ่งสิทธิหรือหนี้สินและเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ เปลี่ยน โอน สงวน หรือระงับสิทธิหรือหนี้สินทุกอย่างหนังสือรับรองทรัพย์นี้เป็นหนังสือที่โจทก์รับรองว่าทรัพย์ตามบัญชีท้ายคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเชวงแซ่ภู่ ผู้ขอประกัน หากผู้ขอประกันผิดสัญญาประกัน ศาลบังคับตามสัญญาประกันแก่ผู้ขอประกันไม่ได้ หรือบังคับได้แต่ได้เงินไม่ครบตามสัญญาประกันโจทก์ยอมรับผิดชอบใช้เงินที่ยังขาดอยู่นั้นต่อศาลจนครบข้อความในหนังสือรับรองทรัพย์ที่จำเลยหลอกลวงให้โจทก์ทำขึ้นนี้เห็นได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งซึ่งสิทธิ เพราะศาลมีสิทธิบังคับให้โจทก์ต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันหากจำเลยหลบหนี ซึ่งเท่ากับเป็นสัญญาค้ำประกันนายเชวงผู้ขอประกันต่อศาลอีกชั้นหนึ่ง หนังสือรับรองทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๙)
พิพากษายืน

Share