แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อบริษัทนั้นมีสาขาสำนักงานในประเทศไทย และหนี้นั้นก็เป็นหนี้ที่เกิดแต่การที่จำเลยซื้อสินค้าจากสาขาสำนักงานของบริษัทซึ่งถือได้ว่าบริษัทนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยด้วย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 วรรคสอง การขอรับชำระหนี้ในกรณีเช่นนี้ไม่จำต้องพิสูจน์ตามเงื่อนไขในมาตรา 178 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ย่อยาว
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 20 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2512
คดีนี้สืบเนื่องมาจากบริษัทหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์ จำกัด โจทก์ฟ้องนายจังกิมใช้จำเลยล้มละลาย ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2511 แล้ว
ต่อมานายเนติ ชุณหกสิการ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ค่าตั๋วเงินเป็นเงิน 200,205 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้ตามมาตรา 107(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า บริษัทโจทก์เป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนานอกราชอาณาจักร และเมื่อเจ้าหนี้ไม่พิสูจน์ว่าเจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศตนได้จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ (โจทก์)เสียทั้งสิ้นตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีสัญชาติอังกฤษ และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทั้งผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนช่วงของบริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล ดังนั้นบริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศ และการขอรับชำระหนี้ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 178 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยไม่พิสูจน์ว่าเจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศของตนได้ จึงไม่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้รายนี้ พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงคงได้ความเป็นยุติว่า บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีสัญชาติอังกฤษจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้มอบอำนาจให้นายปีเตอร์ รีด กรีนเวลล์เป็นผู้รับมอบอำนาจจัดกิจการต่าง ๆ ในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย และนายปีเตอร์ รีด กรีนเวลล์ ได้มอบอำนาจช่วงให้นายดักลัส เกรแฮม เฟรเซอร์เป็นตัวแทนช่วงทำการแทนบริษัทเจ้าหนี้ ในเรื่องหนี้สินรายนี้อีกต่อหนึ่ง บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าในประเทศอังกฤษและในประเทศไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย และเป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลาย ส่วนนายจังกิมใช้ลูกหนี้ผู้ล้มละลายประกอบกิจการค้าใช้ชื่อร้านค้าว่า “วิเชียรชัย” อยู่ที่ถนนลาดหญ้า จังหวัดธนบุรี ได้ติดต่อซื้อสินค้าจากบริษัทเจ้าหนี้โดยทางนายดักลัส เกรแฮม เฟรเซอร์ ผู้รับมอบอำนาจมานานแล้ว สำหรับหนี้รายนี้เป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าประเภทผงซักฟอกแฟ๊บ ยาสีฟัน คอลเกทและสบู่หอมปาล์มโอลีฟ ซึ่งลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้รับสินค้าไปถูกต้องแล้ว และได้จ่ายเช็คธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาตลาดพลูให้บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ โดยลงวันที่ล่วงหน้าหนึ่งเดือน แต่เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชี เพื่อโอนบัญชีลูกหนี้มาเข้าบัญชีตน แต่ธนาคารไม่สามารถจ่ายเงินตามเช็คให้ได้ เพราะบัญชีของลูกหนี้ปิดแล้วบริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงยังไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามเช็คดังกล่าวรวมเป็นเงิน 200,205 บาท บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงมอบอำนาจให้นายเนติ ชุณหกสิการมายื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้ บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ว่า เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายแห่งประเทศอังกฤษได้ตามเงื่อนไขในมาตรา 178 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แต่ได้กล่าวฟ้องไว้ว่า บริษัทเจ้าหนี้มีสาขาอยู่ในประเทศไทย โดยนายดักลัส เกรแฮม เฟรเซอร์เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินกิจการทั่วไป และจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งคัดค้านในข้อนี้
คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรอันจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการพิสูจน์ตามมาตรา 178 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เสียก่อนจึงจะมีสิทธิขอรับชำระหนี้รายนี้หรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 71 บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้นได้แก่ถิ่นที่สำนักงานแห่งใหญ่ หรือที่ตั้งที่ทำการ หรือถิ่นที่ได้เลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง
อนึ่งถิ่นที่มีสาขาสำนักงาน จะจัดว่าเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันทำ ณ ถิ่นที่นั้นด้วยก็ได้”
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์กล่าวว่า โจทก์มีสาขาสำนักงานในประเทศไทยเพื่อประกอบกิจการค้าในประเทศไทย ซึ่งจำเลยมิได้ต่อสู้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น และทางพิจารณาในชั้นศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ได้ความจากพยานโจทก์ว่า บริษัทโจทก์มีสาขาสำนักงานอยู่ในประเทศไทยด้วย โดยมีนายปีเตอร์ รีด กรีนเวลล์ เป็นผู้จัดการ และหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากจำเลยซื้อสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์จากสาขาสำนักงานของบริษัทโจทก์ แล้วได้ออกเช็คชำระหนี้แก่บริษัทโจทก์เป็นเงิน 200,205 บาท จึงรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่า บริษัทเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีสาขาสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 วรรค 2 ดังนั้นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรตามมาตรา 178 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่จำต้องพิสูจน์ตามเงื่อนไขในบทบัญญัติ มาตรา 178 ดังกล่าวแล้วทั้งปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 91แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้วและเป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยลูกหนี้มิได้โต้แย้งประการใด ฉะนั้นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้รายนี้ได้ และสมควรอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟังขึ้น
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับชำระหนี้รายนี้เต็มจำนวน ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลสมควรให้เป็นพับไป
ข้าพเจ้าขอรับรองว่า คดีนี้ได้ทำคำพิพากษาโดยนายบัญญัติ สุขารมณ์เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้ร่วมประชุมปรึกษากับองค์คณะและนายเสลา หัมพานนท์ได้ร่วมประชุมปรึกษาเป็นองค์คณะดังได้ลงนามไว้แล้วในต้นร่างคำพิพากษา แต่นายบัญญัติ สุขารมณ์และนายเสลา หัมพานนท์ ได้พ้นจากราชการไปเสียก่อนที่จะลงนามในคำพิพากษานี้จึงบันทึกไว้เป็นสำคัญ
ประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฎีกา