แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จ. ทายาทคนหนึ่งทำหนังสือยกทรัพย์สินส่วนของตนซึ่งมีสิทธิจะได้จากการแบ่งปันในกองมรดกให้แก่ ส.และส. ยอมรับเอาทรัพย์นั้นแล้ว หนังสือนี้เป็นสัญญาให้โดยเสน่หา หาใช่เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดก ลงชื่อยินยอมและรับรู้การยกทรัพย์สินส่วนของ จ. ให้ ส. ในหนังสือยกให้นั้นถือว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้แก่ ส. โดยปริยายแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1379 สำหรับทรัพย์มรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคนนั้น การโอนจึงทำได้โดย จ.ผู้โอนสั่งจำเลยที่ 2 ผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทน ส.ผู้รับโอนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1380 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 2รับรู้การยกให้ดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าต่อไปจำเลยที่ 2จะถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์แทน ส. โดยไม่ต้องจดทะเบียนการยกให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 อีก สัญญาให้จึงสมบูรณ์ โจทก์โต้แย้งเพียงว่าหนังสือยกให้นั้นมิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง แต่รับการให้โดยเสน่หา เท่ากับโจทก์รับว่าหนังสือยกให้ทำเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510 จริง เพียงแต่โต้แย้งว่ามิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังที่จำเลยกล่าวอ้างเท่านั้นโจทก์จะฎีกาว่าหนังสือยกให้นี้ทำเมื่อปี 2521 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วหาได้ไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในปัญหานี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ เป็นบุตรของนางจำรัสเจนใจวิทย์ กับหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ ได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 18 มกราคม 2469 ยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทแล้วจึงวายชนม์ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2506 บรรดาทายาทได้ทำบันทึกแบ่งปันมรดกขึ้นใหม่ กำหนดส่วนแบ่งกองมรดกให้แก่ทายาท โดยนางจำรัส เจนใจวิทย์ซึ่งเป็นภริยา และเป็นทายาทได้รับส่วนแบ่งด้วย ตามที่กำหนดไว้ในสำเนาภาพถ่ายบันทึกสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข1 จำเลยที่ 2 ได้แบ่งมรดกให้แก่ทายาทไปตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้และได้ขายทรัพย์สินมรดกที่เป็นที่ดินแล้วนำเงินที่ได้ไปแบ่ง โดยจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งไปยังบรรดาทายาทให้ไปรับส่วนแบ่งที่สำนักงานกองมรดกวันที่ 21 เมษายน 2524 หม่อมหลวงสาระภีหงสนันท์ ถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกวันที่ 6 มกราคม 2527 นางจำรัส เจนใจวิทย์ ถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2527 จำเลยที่ 2แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินส่วนแบ่งจากการขายที่ดินของกองมรดกส่วนที่นางจำรัส เจนใจวิทย์ จะได้รับพร้อมทั้งให้นำหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกไปแสดงด้วย โจทก์ไปรับเงินส่วนแบ่งแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน2527 ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ต่อมาวันที่10 เมษายน 2527 จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปรับเงินส่วนแบ่งจากการขายที่ดินอีกงวดหนึ่งในวันที่ 18 เมษายน 2527 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ไปขอรับเงินจากจำเลยที่ 2 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2527 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2ให้ระงับการจ่ายเงิน โดยอ้างว่านางจำรัส เจนใจวิทย์ ได้โอนสิทธิการรับเงินไปให้หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ แล้ว ความจริงนางจำรัสเจนใจวิทย์ไม่เคยโอนสิทธิให้แก่หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 2 ระงับการจ่ายเงินส่วนแบ่งจากกองมรดกและห้ามจำเลยที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินส่วนแบ่งจากการขายที่ดินของกองมรดก งวดวันที่ 18 เมษายน 2527จำนวน 400,000 บาท และงวดต่อ ๆ ไป ให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ทายาท และบรรดาทายาทได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กำหนดวิธีแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ต่อมาเมื่อวันที่11 ตุลาคม 2510 นางจำรัส เจนใจวิทย์ ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งที่ตนมีสิทธิได้รับจากกองมรดกทั้งหมดให้แก่หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 และนางจำรัส เจนใจวิทย์ กับหม่อมหลวงสาระภีหงสนันท์ ได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2ได้ทำหนังสือยินยอมด้วยในการโอนนั้น ดังเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ฉะนั้น สิทธิในส่วนแบ่งที่นางจำรัส เจนใจวิทย์ จะได้รับจากกองมรดก จึงโอนและตกเป็นของหม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2510 เป็นต้นมา ต่อมา หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 2 ว่า หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ขอมอบฉันทะให้นางจำรัส เจนใจวิทย์รับส่วนแบ่งมรดกแทน จนกว่านางจำรัส เจนใจวิทย์ จะถึงแก่กรรม ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 เมื่อนางจำรัส เจนใจวิทย์ถึงแก่กรรมลง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิรับเงินส่วนแบ่งดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 การที่โจทก์รับเงินส่วนแบ่งจากกองมรดกเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2527 จำนวน375,000 บาท โดยรู้ว่าตนไม่มีสิทธิจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์คืนเงินจำนวน 375,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510 จำเลยที่ 2ได้รับแจ้งจากนางจำรัส เจนใจวิทย์ และหม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ว่านางจำรัส เจนใจวิทย์มีความประสงค์จะโอนสิทธิการรับมรดกให้แก่หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2510 โดยได้ทำเป็นหนังสือไว้ จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกรับรู้การโอนไว้ในหนังสือดังกล่าว หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2ทราบว่า ได้มอบฉันทะให้นางจำรัส เจนใจวิทย์ รับส่วนแบ่งมรดกตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแทนหม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ไปจนกว่านางจำรัส เจนใจวิทย์ จะถึงแก่กรรม ต่อมาหม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์และนางจำรัส เจนใจวิทย์ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือจากจำเลยที่ 1 ขอให้ระงับการจ่ายเงินส่วนแบ่งให้แก่โจทก์ โดยอ้างถึงข้อตกลงระหว่างนางจำรัส เจนใจวิทย์ กับหม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับรู้การโอนดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงระงับการจ่ายเงินส่วนแบ่งมรดกไว้ก่อน และได้นำเงินไปฝากไว้ ณ ธนาคารออมสินสาขาสามย่าน บัญชีเลขที่ 3377-2 เพื่อรอการจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิต่อไปโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า นางจำรัสเจนใจวิทย์ ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งมรดกให้แก่หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2510 นั้น ไม่เป็ความจริง ความจริงหนังสือที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเป็นหนังสือยกให้ในส่วนแบ่งทรัพย์สิน สิทธิต่าง ๆ และผลประโยชน์อันพึงจะได้รับจากกองมรดก ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้จัดการมรดกจะต้องนำมาแบ่งให้แก่นางจำรัสเจนใจวิทย์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดก ลงวันที่27 มกราคม 2506 มิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง เมื่อบรรดาทรัพย์สินที่กล่าวอ้างว่าได้ยกให้แก่หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ นั้น หม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ยังไม่เคยได้รับมอบทรัพย์สินที่ยกให้เลยจนกระทั่งผู้รับคือหม่อมหลวงสาระภี หงสนันท์ ได้ถึงแก่กรรมก่อนผู้ให้คือ นางจำรัส เจนใจวิทย์การยกให้จึงไม่สมบูรณ์ สิทธิการรับมรดกของนางจำรัส เจนใจวิทย์เป็นสินเดิม ซึ่งเป็นสินบริคณห์ระหว่างนางจำรัส เจนใจวิทย์ กับโจทก์นางจำรัส เจนใจวิทย์ จำหน่ายสินบริคณห์ดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์จึงเป็นโมฆียะ และโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะไปแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 2,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 18 มกราคม 2469 ก่อตั้งทรัสต์ โดยไม่ยอมยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเจ้ามรดกให้แก่ผู้ใดแต่ให้คงไว้เป็นกองกลางเพื่อเก็บผลประโยชน์แบ่งปันแก่ทายาทตามพินัยกรรมต่อมาเจ้ามรดกได้วายชนม์ทรัสตีได้ปกครองทรัพย์สินและรวบรวมผลประโยชน์แบ่งปันให้แก่ทายาทตลอดมา ครั้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2506 ทายาททุกคนรวมทั้งทรัสตีได้ตกลงเลิกทรัสต์และให้นำทรัพย์สินทั้งหมดมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท วิธีแบ่งปันจะได้ประชุมตกลงกันต่อไป จนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม2510 บรรดาทายาททุกคนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงวิธีแบ่งปันโดยให้เรืออากาศเอกพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และเรือเอกปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ทรัสตีเป็นผู้จัดการแบ่งปันให้เป็นไปตามข้อตกลง ดังปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งเรืออากาศเอกพจน์กับเรือเอกปิยะพันธ์จำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์สินให้แก่ทายาทตามที่ได้ตกลงกันต่อไป นางจำรัส เจนใจวิทย์ เป็นภริยาคนหนึ่งของเจ้ามรดก มีบุตรกับเจ้ามรดก 1 คน คือ หม่อมหลวงสาระภีหงสนันท์หลังจากเจ้ามรดกวายชนม์แล้วนางจำรัสได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับโจทก์ ในระหว่างการตกลงแบ่งปันทรัพย์สินนางจำรัสในฐานะทายาทผู้มีส่วนได้รับแบ่งปันทรัพย์สินดังกล่าวด้วยได้ทำหนังสือยกส่วนได้ของตนที่จะได้รับการแบ่งปันต่อไปให้แก่หม่อมหลวงสาระภีซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่ง ขณะเดียวกันหม่อมหลวงสาระภีได้ทำหนังสือมอบฉันทะให้นางจำรัสเป็นผู้รับส่วนได้ดังกล่าวแทนหม่อมหลวงสาระภีจนกว่านางจำรัสจะถึงแก่กรรม โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะทรัสตีได้ลงชื่อยินยอมและรับทราบการยกให้และการมอบฉันทะในหนังสือดังกล่าวด้วยดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 วันที่ 21 เมษายน 2524หม่อมหลวงสาระภีถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนนางจำรัสถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2527ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ให้ระงับการจ่ายเงินส่วนได้จากการแบ่งปันทรัพย์สินดังกล่าวตามที่นางจำรัสเป็นผู้ได้รับมอบฉันทะให้รับแทนเพราะนางจำรัสถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ หลังจากจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะสามีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 ตามเอกสารหมาย จ.12 บอกล้างโมฆียกรรมการยกให้ของนางจำรัสอ้างว่าเป็นสินบริคณห์ไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นสามีในการยกให้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่แบ่งปันมรดกให้แก่โจทก์เพราะสิทธิในการรับมรดกได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สิทธิในการรับการแบ่งปันมรดกเป็นทรัพย์สินอันเป็นสินเดิมของนางจำรัสในฐานะทายาทผู้เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง มิใช่เป็นเพียงสิทธิเรียกร้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อนางจำรัสทำหนังสือยกให้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวแต่หม่อมหลวงสาระภียังไม่ได้รับการส่งมอบซึ่งทรัพย์สินที่ให้การให้จึงยังไม่สมบูรณ์สิทธิในการรับการแบ่งปันมรดกยังเป็นของนางจำรัสอยู่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือยกให้ตามเอกสารหมาย ล.1เป็นหนังสือที่นางจำรัสยกส่วนได้ของตนที่จะได้รับการแบ่งปันทรัพย์สินจากจำเลยที่ 2 ในฐานะทรัสตีให้แก่หม่อมหลวงสาระภี จึงเป็นการโอนทรัพย์สินอันเป็นมรดกที่ตกได้แก่ตนส่วนหนึ่งด้วยให้โดยเสน่หาแก่หม่อมหลวงสาระภี และหม่อมหลวงสาระภียอมรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้วสัญญาตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นการให้โดยเสน่หาดังที่โจทก์กล่าวอ้าง หาใช่เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ปัญหาต่อไปมีว่าการให้ยังไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้หรือไม่ ได้ความว่าขณะมีการทำสัญญายกให้นี้ทายาททุกคนรวมทั้งทรัสตีได้ตกลงเลิกทรัสต์กันแล้วโดยให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทรัสตีในขณะนั้นทำการแบ่งปันมรดกให้แก่บรรดาทายาท ทรัพย์มรดกทั้งหมดจึงมีจำเลยที่ 2 ในฐานะทรัสตีและในฐานะผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาแทนทายาททุกคนเมื่อนางจำรัสทำสัญญาให้โดยเสน่หาตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วหม่อมหลวงสาระภีทำบันทึกมอบฉันทะให้นางจำรัสเป็นผู้รับส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวแทนไว้ในเอกสารนั้นโดยมีจำเลยที่ 2 ลงชื่อยินยอมและรับรู้การยกให้กับการมอบฉันทะดังกล่าวไว้ในเอกสาร เท่ากับเป็นการตกลงว่าต่อแต่นั้นไปจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกอันเป็นส่วนได้ของนางจำรัสแทนหม่อมหลวงสาระภี เป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้โดยปริยายแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1379 การให้ทรัพย์สินในส่วนที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์จึงสมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 สำหรับทรัพย์มรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ก็มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน การโอนจึงทำได้โดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1380 วรรคสองเมื่อนางจำรัสไม่มีชื่อเป็นเจ้าของในหนังสือสำคัญเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การให้โดยเสน่หาจึงไม่อาจจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 525 การรับรู้การยกให้ของจำเลยที่ 2ดังกล่าวจึงเป็นการรับว่าต่อไปจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์แทนหม่อมหลวงสาระภีโดยไม่ต้องจดทะเบียนการยกให้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 525 อีก การให้โดยเสน่หาทรัพย์มรดกอันเป็นส่วนของนางจำรัสสมบูรณ์แล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การให้โดยเสน่หาในทรัพย์มรดกของนางจำรัสเป็นการจำหน่ายสินเดิมอันเป็นสินบริคณห์เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นสามีย่อมเป็นโมฆียกรรม โจทก์บอกล้างแล้ว นิติกรรมการให้จึงเป็นโมฆะนั้นปัญหาจึงมีว่า โจทก์ได้บอกล้างโมฆียกรรมนั้นภายในกำหนดหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า นางจำรัสทำสัญญาให้โดยเสน่หาตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อปี 2521 หาใช่ทำเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510ตามที่ปรากฏในเอกสารไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510 นางจำรัสได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งที่ตนมีสิทธิได้รับจากกองมรดกให้แก่หม่อมหลวงสาระภี ตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 และจำเลยที่ 2 ได้ยินยอมด้วยในการโอนในหนังสือดังกล่าวแล้ว สิทธิในการรับส่วนแบ่งมรดกของนางจำรัสจึงตกมาเป็นของหม่อมหลวงสาระภีตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2510 เป็นต้นมาโจทก์ได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่าที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่านางจำรัสทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในส่วนแบ่งมรดกให้แก่หม่อมหลวงสาระภีตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2510 นั้นไม่เป็นความจริงความจริงหนังสือที่อ้างเป็นหนังสือยกให้ในส่วนแบ่งทรัพย์สิน สิทธิต่าง ๆ และผลประโยชน์อันจะพึงได้รับจากกองมรดกซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้จัดการมรดกจะต้องแบ่งให้แก่นางจำรัส มิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กล่าวอ้างการให้ยังไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ จะเห็นได้ว่าโจทก์โต้แย้งเพียงว่าหนังสือยกให้ ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 นั้นมิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแต่เป็นการให้โดยเสน่หา เท่ากับโจทก์รับว่าหนังสือยกให้ ตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลยที่ 1 ทำเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510 จริงเพียงแต่โต้แย้งว่ามิใช่หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างเท่านั้นโจทก์จะฎีกาว่าหนังสือยกให้นี้ทำเมื่อปี 2521 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วหาได้ไม่แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในปัญหานี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ คดีต้องฟังว่านางจำรัสทำหนังสือยกให้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2510 เมื่อโจทก์เพิ่งมาบอกล้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 อันเป็นการบอกล้างเมื่อเกินสิบปีจึงบอกล้างไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143 (มาตรา181 ที่แก้ไขใหม่) สัญญาให้โดยเสน่หาไม่เป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกในส่วนของนางจำรัสได้ตกเป็นของหม่อมหลวงสาระภีแล้ว เมื่อหนังสือมอบฉันทะให้นางจำรัสรับส่วนแบ่งแทนสิ้นผลเพราะนางจำรัสถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้โจทก์ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 2,000 บาท.