คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดามารดากับบุตรว่าเป็นทายาทซึ่งกันและกันนั้น หมายถึง เป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย ถ้ามิใช่ก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตร ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า ป. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ น. ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยไม่อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติฎีกาของจำเลยในปัญหาเรื่องอายุความ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่มิได้ยกเหตุผลมาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ชัดแจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกควรเป็นอย่างไร เมื่ออ่านแล้วไม่อาจเข้าใจได้และไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยฎีกา โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นใด ด้วยเหตุผลอะไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินเฉพาะส่วนระหว่างนายสมชัย เชยกิจผู้ให้ (โจทก์ที่ 1) กับนายแป้น เชยกิจ ผู้รับให้ เมื่อวันที่25 สิงหาคม 2525 และเพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมขายที่ดินระหว่างนายแป้น เชยกิจ ผู้ขาย กับนางมณี ครุธทะยานผู้ซื้อ (จำเลย) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 ของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3216 ตำบลแควอ้อม (ปากน้ำ) อำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงคราม ให้กลับสู่สภาพเดิม โดยให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินและบ้านให้โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา หากไม่สามารถแบ่งแยกได้ให้นำที่ดินและบ้านออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่งหากที่ดินและบ้านพิพาทพ้นวิสัยที่จะมาแบ่งกันหรือนำมาขายทอดตลาดได้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,500,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดรายได้ให้โจทก์ทั้งสองปีละ 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 2เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3216ตำบลแควอ้อม (ปากน้ำ) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและบ้านบนที่ดินดังกล่าวจำนวน 1 ใน 10 ส่วน กับให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ตามส่วนดังกล่าวหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งแยกได้ ให้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วนดังกล่าวกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ปีละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งแยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 หากพ้นวิสัยที่จะนำมาแบ่งกันหรือนำออกขายทอดตลาดได้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 นอกจากนี้ให้ยกให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3216 ตำบลแควอ้อม (ปากน้ำ) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและบ้านบนที่ดินดังกล่าวคนละ 1 ใน 6 ส่วน กับให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามส่วนดังกล่าวหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยกรณีไม่สามารถแบ่งแยกได้ให้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วนกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 833.33 บาท ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งแยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 หากพ้นวิสัยที่จะนำมาแบ่งกันหรือนำออกขายทอดตลาดได้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินคนละ333,333.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายแป้น เชยกิจ และนางถวิล เชยกิจ เป็นสามีภรรยากันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือโจทก์ที่ 2นายเชีย เชยกิจ โจทก์ที่ 1 และนายสมศักดิ์ เชยกิจซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วโดยไม่มีภรรยาและบุตร นายแป้นมีภรรยาอีก 1 คน คือนางอารีย์ เชยกิจ มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือจำเลยนายศักดา เชยกิจ และนางสาวรุ่งทิวา เชยกิจเดิมนางถวิลมีสามีชื่อนายสว่าง แสงกระจ่าง มีบุตรด้วยกัน1 คน คือนางอรุณ แซ่โค้ว นายแป้นกับนางถวิลมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3216ตำบลแควอ้อม (ปากน้ำ) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและบ้านบนที่ดิน 1 หลัง คือบ้านเลขที่ 52/1 นางถวิลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2516 ศาลได้มีคำสั่งตั้งนายแป้นเป็นผู้จัดการมรดกของนางถวิล นายแป้นในฐานะผู้จัดการมรดกของนางถวิลได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทในส่วนของนางถวิลให้โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2525 และในวันเดียวกันโจทก์ที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทในส่วนของนางถวิลให้นายแป้น ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2536 นายแป้นได้จดทะเบียนขายที่ดินและบ้านทั้งแปลงให้จำเลยตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.3 ที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเฉพาะส่วนของนางถวิลราคา 1,000,000 บาท ค่าเช่าที่ดินพิพาทปีละ 2,500 บาท
ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า แม้นายแป้นกับนางถวิลไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อนายสมศักดิ์ เชยกิจ บุตรของนายแป้นและนางถวิลถึงแก่ความตาย นายแป้นซึ่งเป็นบิดาย่อมได้รับมรดกของนายสมศักดิ์มิใช่ตกได้แก่โจทก์ทั้งสองและนายเชยนั้นเห็นว่า นายแป้นกับนางถวิลไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจึงมิได้เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย แม้นายสมศักดิ์เป็นบุตรของนายแป้นที่เกิดจากนางถวิล นายแป้นก็มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมศักดิ์ นายแป้นกับนายสมศักดิ์ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดามารดากับบุตรว่าเป็นทายาทซึ่งกันและกันนั้น หมายถึง เป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย ถ้ามิใช่ก็ไม่เป็นทายาทและไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันนายแป้นจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสมศักดิ์ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากนางถวิล
ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า นายแป้นยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5344 ให้แก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาทเหตุที่ระยะเวลาการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5344 กับที่ดินพิพาทห่างกันถึง 5 เดือนเศษ เพราะที่ดินพิพาทขณะที่ทำการแลกเปลี่ยนยังมีชื่อนางถวิลถือกรรมสิทธิ์อยู่ นายแป้นจึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนางถวิลทำให้ต้องเสียเวลาไป เมื่อนายแป้นได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางถวิลแล้วได้โอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ก็โอนที่ดินกลับให้นายแป้นทันทีในเวลาเดียวกันจึงไม่เป็นการผิดปกติวิสัยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่านายแป้นโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 5344 ให้โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2525 ส่วนนายแป้นโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 โอนกลับให้นายแป้นวันเดียวกันเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2525 ซึ่งเป็นเวลาห่างกันถึง 5 เดือนเศษหากเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินกันดังที่จำเลยอ้างแล้ว นายแป้นก็ไม่น่าจะรีบโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5344 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ไปก่อนโดยน่าจะรอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางถวิลก่อนแล้วจึงทำการโอนแลกเปลี่ยนกันในวันเดียวกันทั้งหมด ข้ออ้างของจำเลยจึงขาดเหตุผลในการรับฟัง
ส่วนที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับเรื่องอายุความนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า นายแป้นครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนางถวิลฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยไม่อุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้นเห็นว่า ปัญหานี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3เช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลย จำเลยมิได้ยกเหตุผลมาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ชัดแจ้งว่า ไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรเป็นอย่างไร แต่ฎีกาของจำเลยอ่านแล้วไม่อาจเข้าใจได้และไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ในประเด็นใดด้วยเหตุผลอะไร ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share