แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดฐานรับของโจร จึงถือว่ายกฟ้องฐานลักทรัพย์โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องฐานรับของโจร ความผิดฐานลักทรัพย์จึงยุติการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ผิดฐานรับของโจรและไม่ลงโทษฐานลักทรัพย์ จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์มิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอ้างอิงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร คงโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาในฎีกาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรเท่ากับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์ก็ต้องพิพากษาลงโทษฐานลักทรัพย์และก็สรุปเอาว่า หากศาลฎีกาไม่ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์และเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ก็ให้ลงโทษฐานรับของโจร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9921/2530และ 345/2531 ของศาลชั้นต้น คืนรถยนต์กระบะยี่ห้อดัทสันของกลางแก่เจ้าของ รับไขควงคีมตัดสายไฟ กุญแจปากตาย มีดคัทเตอร์ไขควงรูปตะขอและถุงผ้าร่มสีน้ำเงินของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 4 ปีคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7644/2531ของศาลชั้นต้น คืนรถยนต์กระบะยี่ห้อดัทสันของกลางแก่เจ้าของยกฟ้องจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ได้มีคนร้ายงัดแงะที่ล็อกประตูรถยนต์ผู้เสียหายแล้วเปิดประตูรถเข้าไปลักเอาวิทยุติดรถยนต์ 1 เครื่องและเครื่องขยายเสียงซึ่งอยู่ท้ายรถ 1 เครื่อง รวมราคา 20,000 บาทไปโดยทุจริต ในวันเกิดเหตุนั้นเองเวลาประมาณ 14 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจได้พบและยึดวิทยุติดรถยนต์และเครื่องขยายเสียงของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปดังกล่าวเป็นของกลาง และจับกุมจำเลยที่ 1และที่ 2 กล่าวหาครั้งแรกว่าร่วมกันเป็นซ่องโจร ต่อมาจึงได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร และวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรเท่ากับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก็ชอบที่จะพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์เพราะโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรอยู่แล้ว การที่มาพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบนั้น ว่าแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจรถือได้ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานลักทรัพย์โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์คงมีจำเลยที่ 1เพียงผู้เดียวอุทธรณ์ขอให้พิพากษายกฟ้องข้อหารับของโจร ความผิดฐานลักทรัพย์จึงยุติแล้ว ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นความผิดฐานรับของโจร และไม่ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นและวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า จากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาหากศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานรับของโจร ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์เป็นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจรยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือหากศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์เป็นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์นั้น ว่า ฎีกาของโจทก์มิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอ้างอิงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร คงโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาในฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรเท่ากับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์ก็ต้องพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์และก็สรุปเอาว่า หากศาลฎีกาไม่ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์และเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ก็ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน