แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
วัตถุประสงค์ของโจทก์ตามสำเนาข้อบังคับอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิซึ่งในหมวดที่ 2 เรื่องวัตถุประสงค์ ข้อ 4 ระบุว่า วัตถุประสงค์ของมูลนิธิคือ 4.1 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันหรือหน่วยงานอิสระที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้น… 4.4 ประกอบกิจการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรม วิจัยและพัฒนา วิเคราะห์และทดสอบ และประกอบกิจการอื่นที่เกี่ยวกับและต่อเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ… และสถาบันอาหารเป็นสถาบันที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยโดยให้โจทก์เป็นมูลนิธิรองรับการดำเนินงานของสถาบันอาหาร เมื่อสถาบันอาหารได้ดำเนินโครงการพัฒนาปลาเผาะมีเป้าหมายเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์และแปรรูปเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ยังคงเจริญเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก การที่โจทก์ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีหน้าที่รองรับการดำเนินงานของสถาบันอาหารขายเนื้อปลาเผาะแก่จำเลยจึงเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันอาหารเพื่อสาธารณประโยชน์ มิใช่กระทำเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์มิได้ระบุวัตถุประสงค์ในการซื้อขายก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขัดกับ ป.วิ.พ. มาตรา 84 นั้น จำเลยมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขัดกับกฎหมายดังกล่าวอย่างไรเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง
การที่โจทก์ขายเนื้อปลาเผาะแก่จำเลยเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันอาหารเพื่อสาธารณประโยชน์ มิใช่กระทำเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบ การค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ซื้อปลาจากโจทก์ แต่โจทก์นำปลามาให้จำเลยช่วยขาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ประเด็นนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยซื้อปลาจากโจทก์ จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 8,326,079.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,422,768.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,922,560.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,422,768.80 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 มกราคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 6,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิ มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือส่งเสริมการศึกษาด้านอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 440/2539 เรื่อง การจัดตั้งสถาบันอาหาร ให้จัดตั้งสถาบันอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ยังคงเจริญเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และโจทก์เป็นมูลนิธิรองรับการดำเนินงานของสถาบันอาหาร ต่อมาสถาบันอาหารได้ดำเนินโครงการพัฒนาปลาเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อการส่งออก คือปลาเผาะซึ่งมีเป้าหมายเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์และแปรรูปเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกตามแผนปฏิบัติงาน โครงการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยเพื่อการส่งออก : ปลาเผาะ ปี 2549 ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 ถึง พฤษภาคม 2551 จำเลยซื้อเนื้อปลาเผาะจากโจทก์หลายครั้ง จำเลยชำระค่าเนื้อปลาแก่โจทก์บางส่วน คงค้างชำระเป็นเงิน 7,422,868.80 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระราคาเนื้อปลาที่ค้างชำระแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าวัตถุประสงค์ของโจทก์ระบุไว้โดยแจ้งชัดว่ามิได้มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขาย และการฟ้องคดีนี้และการดำเนินงานของสถาบันอาหารขัดกับวัตถุประสงค์นั้น เห็นว่า วัตถุประสงค์ของโจทก์ปรากฏตามสำเนาข้อบังคับอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ ซึ่งในหมวดที่ 2 เรื่องวัตถุประสงค์ ข้อ 4 ระบุว่า วัตถุประสงค์ของมูลนิธิคือ 4.1 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันหรือหน่วยงานอิสระที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้น… 4.4 ประกอบกิจการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรม วิจัยและพัฒนา วิเคราะห์และทดสอบ และประกอบกิจการอื่นที่เกี่ยวกับและต่อเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ… และสถาบันอาหารเป็นสถาบันที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยโดยให้โจทก์เป็นมูลนิธิรองรับการดำเนินงานของสถาบันอาหาร เมื่อสถาบันอาหารได้ดำเนินโครงการพัฒนาปลาเผาะมีเป้าหมายเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์และแปรรูปเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ยังคงเจริญเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก การที่โจทก์ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีหน้าที่รองรับการดำเนินงานของสถาบันอาหารขายเนื้อปลาเผาะแก่จำเลยจึงเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันอาหารเพื่อสาธารณประโยชน์ มิใช่กระทำเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์มิได้ระบุวัตถุประสงค์ในการซื้อขายก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 นั้น จำเลยมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขัดกับกฎหมายดังกล่าวอย่างไรเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า คดีของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี เห็นว่า ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าการที่โจทก์ขายเนื้อปลาเผาะแก่จำเลยเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันอาหารเพื่อสาธารณประโยชน์ มิใช่กระทำเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบ การค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยมิได้ซื้อปลาจากโจทก์แต่โจทก์นำปลามาให้จำเลยช่วยขายจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น เห็นว่า ประเด็นนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยซื้อปลาจากโจทก์ จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 6,000 บาท แทนโจทก์