แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มิได้ให้บทนิยามอธิบายความหมายของคำว่า โครงสร้างอาคาร ไว้ แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิศวกรรมก่อสร้างและเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว โครงสร้างอาคารหมายถึงส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารซึ่งได้แก่ ฐานราก เช่น คานคอดิน ตอม่อเสา หรือส่วนกลางของอาคาร เช่น คาน พื้น หรือส่วนบนของอาคาร เช่น โครงหลังคา หลังคา เป็นต้น
คานลอยแม้มิได้เชื่อมติดกับเสา แต่ก็มีไว้สำหรับรองรับน้ำหนักและกำลังต้านทานเช่นเดียวกับคานโครงสร้าง นับได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคาร จึงเป็นโครงสร้างของอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522เมื่อจำเลยกระทำต่อลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก หรือเนื้อที่แห่งโครงสร้างของอาคารและเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่มิให้ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) ข้อ 1 (1) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 5 (3) การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และการที่จำเลยเปลี่ยนโครงหลังคาจากไม้เป็นเหล็ก ย่อมเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยมิได้ใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม ซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 1 (1)แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดียวกัน
เมื่อจำเลยดัดแปลงอาคารอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจดำเนินการมีคำสั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ตามมาตรา 40 (2) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 คำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อจำเลยฝ่าฝืนจึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้มีคำสั่งให้จำเลยแก้ไขแบบแปลนและเพิ่มรายการคำนวณตามที่จำเลยแจ้งขอดัดแปลงอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ก็ตาม ก็หาทำให้คำสั่งห้ามที่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นคำสั่งห้ามที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่