คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์และได้มอบโฉนดที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ยึดไว้เมื่อทำสัญญากู้เงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในที่ดินนั้น ดัรงนี้ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้นำยึดที่ดินตามโฉนดนั้นเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบังคับทวงหนี้เอากับที่ดินนั้น การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 เช่นนั้น และจำเลยที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนอยู่ในที่ดินด้วยก็ไม่เป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะจำเลยที่ 2 ยังมิได้ทำนิติกรรมแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ กู้เงินโจทก์และนำโฉนดที่ ๓๔๑๓ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวมาเป็นหลักประกันเงินกู้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้แกล้งตั้งรูปฟ้องจำเลยที่ ๒ โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินโฉนดที่ ๓๔๑๓ จำเลยที่ ๒ ได้เอาประกันเงินกู้โจทก์ไว้ และเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียว กลับแกล้งกล่าวฟ้องว่าเป็นหุ้นส่วนซื้อร่วมกันโดยจำเลยที่ ๑ ออกเงิน ๒๐,๐๐๐ ่บาท จำเลยที่ ๒ ออกเงิน ๕,๐๐๐ บาท แล้วขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย จำเลยที่ ๒ ก็รับตามฟ้องอันเป็นการสมยอมเพื่อจำหน่ายทรัพย์ให้พ้นการบังคับคดี และเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงขอให้ศาลแสดงว่าการเข้าหุ้นส่วนซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๑๓ ระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นไปโดยไม่สุจริต จำเลยที่ ๑ ไม่มีกรรมสิทธิ์ร่วม ห้ามจำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดที่ ๓๔๑๓
จำเลยทั้ง ๒ ให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ได้ออกเงินซื้อที่ดินโฉนดที่ ๓๔๑๓ ไป ๒๐,๐๐๐ บาท ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และฟังว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ ๒ เพื่อฉ้อฉลโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่จำเลยที่ ๒ รับว่าจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินที่ ๓๔๑๓ นั้นเสีย ห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดที่ ๓๔๑๓ ต่อไป
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิของโจทก์ในกรณีนี้มีอยู่เพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินกุ้จำนวน ๒๖,๔๕๖.๒๕ ่บาท การทีจำเลยที่ ๒ นำโฉนดเลขที่ ๓๔๑๓ ไปให้โจทก์ยึดไว้เพื่อทำสัญญากู้เงินนั้น หาเป็นการนำทรัพย์คือที่ดินตามโฉนดนั้นไปเป็นประกันเงินกู้หรือประกันการชำระหนี้ตามกฎหมายอย่างไรไม่ ฉะนั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้นำยึดที่ดินตามโฉนดนั้นเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบับคับทวงหนี้เอากับที่ดินนั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องจำเลยที่ ๒ อ้างว่าจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ในที่ดินนั้น จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องร้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโจทก์นำยึดที่ดินแปลงนี้ตามคำพิพากษาแล้ว และเมื่อจำเลยที่ ๑ มาร้องอ้างว่าจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้นอยู่ส่วนหนึ่ง ในชั้นนี้โจทก์ยังมิได้นำยึดที่ดินโฉนดที่ ๓๔๑๓ นั้น จึงยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์ยังไม่มีสิทธิว่ากล่าวเป็นคดีนี้ขึ้น ฯลฯและที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ให้การรับว่าจำเลยที่ ๑ มีส่วนอยู่ในที่ดินด้วยอันเป็นการฉ้อฉลนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ นั้น ต้องเป็นการเพิกถอนซึ่งนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำลง กรณีนี้จำเลยที่ ๒ ยังมิได้ทำนิติกรรมแต่อย่างใด และถึงแม้ว่าจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๑ จะได้ทำสัญญาประนีประนอมกันและศาลได้พิพากษาไปตามยอมนั้นแล้ว คำพิพากษาระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ นั้น ก็หาอาจใช้ยันโจทก์โดยเด็ดขาดได้ไม่ เพราะโจทก์อาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยนัยดังกล่าว

Share