แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 24 วรรคท้ายและมาตรา 109 มุ่งประสงค์ที่จะให้การพิจารณาคดีครอบครัวที่ต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วย ก็แต่เฉพาะคดีครอบครัวที่มีผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเท่านั้น เมื่อขณะฟ้องบุตรทุกคนบรรลุนิติภาวะแล้วจึงเป็นคดีครอบครัวที่ไม่มีเป็นผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่จำต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะ การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามคู่ความก่อนการพิจารณาคดีว่าประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยหรือไม่จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ พ.ศ. 2504 มีบุตรด้วยกัน3 คน ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 จึงจดทะเบียนสมรสกัน ระหว่างเป็นสามีภริยาจำเลยไม่ทำมาหากินได้แต่เที่ยวเตร่ โจทก์ตักเตือนจำเลยไม่เชื่อฟัง จึงทะเลาะกันบ่อยครั้งบางครั้งมีการทำร้ายร่างกายโจทก์ โจทก์ประกอบอาชีพแต่เพียงผู้เดียวและนำเงินไปซื้อที่ดิน 4 แปลง แต่ใส่ชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินทั้งหมดรวมทั้งเงินฝากธนาคารออมสินและธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อ พ.ศ. 2542 โจทก์ป่วยเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ต้องผ่าตัด ระหว่างนั้นจำเลยพานางนิตยาไม่ทราบชื่อสกุลเข้ามาอยู่ในบ้านที่โจทก์อยู่กินกับจำเลยอย่างเปิดเผยเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง โจทก์ไม่ประสงค์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไป ปัจจุบันบุตรทุกคนบรรลุนิติภาวะแล้ว ขอให้พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายเสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียงเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยคืนสินสมรสในส่วนที่เป็นของโจทก์จำนวน 715,800 บาท กับคืนสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือน้ำหนักรวม9 บาท คิดเป็นเงิน 45,000 บาท ที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างที่โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกัน โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายผักในตลาดเทศบาล ส่วนจำเลยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยจึงใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15173 และ 15174 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคาประมาณ 1,000,000 บาท กับที่ดินมีโฉนดอีก 2 แปลง ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดจำเลยได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนสมรสมีราคารวมไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนโจทก์นั้นมีทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสคือที่ดินมีโฉนด 2 แปลง รวมราคาประมาณ 280,000 บาท เงินสดในธนาคารรวมประมาณ 1,000,000บาท เครื่องประดับราคาประมาณ 300,000 บาท จำเลยได้ร่วมดูแลอุปการะเลี้ยงดูบุตรมิได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่โจทก์ฝ่ายเดียว เมื่อ พ.ศ. 2542 ระหว่างที่โจทก์ป่วย จำเลยได้แบ่งบ้านที่จำเลยอยู่ให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อบรรเทารายจ่ายในบ้าน โจทก์จึงเข้าใจผิดว่าจำเลยมีภริยาใหม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจำนวน 200,000 บาท ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสมีราคาเป็นเงิน 1,780,000 บาท ครึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน 890,000 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องแบ่งให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้แบ่งสินสมรสคือ รถยนต์กระบะ 1 คัน ตู้เย็น 1 ตู้ โทรทัศน์ 1 เครื่อง หม้อหุงข้าวและกาต้มน้ำ 2 ใบ ตู้เฟอร์นิเจอร์ รถจักรยานยนต์ 2 คัน และแบ่งกรรมสิทธิ์รวมคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 15173 และ 15174 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตำบลวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 15731 ตำบลนครสวรรค์ตก(ท่าทอง) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 46142 ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ให้โจทก์จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่งถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจกระทำได้หรือจะเสียหายมากนักให้ขายโดยประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าการพิจารณาไม่ชอบเกี่ยวกับเรื่ององค์คณะ และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติโดยคู่ความมิได้คัดค้านว่า คดีนี้เป็นคดีครอบครัวแต่ไม่มีปัญหาเรื่องบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์มาเข้าเกี่ยวข้องเพราะบุตรของโจทก์และจำเลยทุกคนบรรลุนิติภาวะแล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ได้สอบถามคู่ความว่า ประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะเป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 24 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวใดจะต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะหรือไม่ให้เป็นไปตามมาตรา 109 ซึ่งมาตรา 109 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าศาลเห็นว่าคดีครอบครัวใดที่ศาลจะพิจารณาพิพากษา เป็นคดีที่ผู้เยาว์ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ก่อนเริ่มพิจารณาคดี ให้ศาลสอบถามคู่ความว่าประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยหรือไม่ ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยให้ผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคนเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้ และวรรคสองบัญญัติว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลที่ไม่มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลว่าคดีนั้นเป็นคดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียให้ศาลกำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบตามมาตรา 24 เป็นองค์คณะ แต่ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินไปแล้ว แสดงว่าบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะให้การพิจารณาคดีครอบครัวที่ต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยนั้น ก็แต่เฉพาะคดีครอบครัวที่มีบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเท่านั้นสำหรับคดีนี้ปรากฏว่าขณะฟ้องบุตรทุกคนบรรลุนิติภาวะแล้วจึงเป็นคดีครอบครัวที่ไม่มีบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่จำต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามคู่ความก่อนการพิจารณาคดีครอบครัวที่ไม่มีบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้องว่า ประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยหรือไม่จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่”