คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3339/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยที่ 2 ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ก็ตาม แต่การจะลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าในขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ทั้งนี้ตามมาตรา 62 วรรคท้าย ซึ่งในข้อนี้ตามทางพิจารณาได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับรถยนต์กระบะของกลางมาจาก ข. เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเมื่อศาลฎีกาไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 357 วรรคสอง นั้นชอบหรือไม่ เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 83 และริบแผ่นป้ายทะเบียนสีแดง หมายเลข ก-5478 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับและจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 8 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 16 เดือน ริบแผ่นป้ายทะเบียนสีแดง หมายเลข ก-5478 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง มีคนร้าย 2 คน ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายไพบูลย์ จนถึงแก่ความตาย แล้วชิงรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บฉ 6833 ร้อยเอ็ด ของบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด สาขาร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายไพบูลย์ไป หลังเกิดเหตุชิงทรัพย์ดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์กระบะดังกล่าวได้จากอู่ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นของกลางโดยรถยนต์กระบะของกลางติดแผ่นป้ายทะเบียนสีแดง หมายเลข ก-5478 กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถยนต์ปรากฏว่ามีหมายเลขตรงกับรถยนต์กระบะที่ถูกคนร้ายชิงไป จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าซื้อรถยนต์กระบะของกลางมาจากนายประวิทย์ และนายนพดล ในราคา 120,000 บาท นายประวิทย์ให้การว่า ร่วมกับนายนพดลขายรถให้แก่จำเลยที่ 1 จริง โดยนายนพดล นำรถมาจากนายสัณหกชหรือเว้ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมนายสัณหกชซึ่งยอมรับว่า ได้รับรถมาจากจำเลยที่ 2 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มีอาชีพเป็นนายหน้าติดต่อซื้อขายสินค้าทั่วไป ได้รับรถมาจากนายแขกไม่ทราบชื่อจริงและชื่อสกุล แล้วไปให้นายสัญหกชและอีกหลายคนช่วยขายต่อ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 รับรถยนต์กระบะของกลางไปขายต่อโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ซึ่งเป็นพยานแวดล้อมประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าติดต่อซื้อขายสินค้าทั่วไปซึ่งโดยปกติแล้วย่อมต้องมีความรอบรู้เป็นพิเศษเกี่ยวกับแหล่งที่มาของทรัพย์สินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มากกว่าบุคคลทั่วไป ประการสำคัญรถยนต์เป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปัจจุบันมีการประทุษร้ายต่อทรัพย์ประเภทนี้ซึ่งกระทำโดยพวกมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับทรัพย์ประเภทดังกล่าวย่อมต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ของรถยนต์ เพื่อทราบถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงและแหล่งที่มาของรถยนต์อันจะเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจมีขึ้น แต่การที่จำเลยที่ 2 รับรถยนต์กระบะของกลางไว้จากบุคคลที่อ้างว่าชื่อนายแขก กลับเป็นการกระทำกันในลักษณะเร่งรีบและรวบรัด ไม่มีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ของรถยนต์กระบะของกลางเพื่อทราบถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงและแหล่งที่มาของรถยนต์ก่อน เป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกรรมเกี่ยวกับรถยนต์โดยสุจริตทั่วไป การที่จำเลยที่ 2 นำสืบอ้างเป็นทำนองว่านายแขกบอกว่าจะนำหลักฐานเกี่ยวกับรถยนต์กระบะของกลางมาให้ในภายหลัง และต่อมานายแขกมอบซองเอกสารให้จำเลยที่ 2 โดยบอกว่า เป็นเอกสารเกี่ยวกับรถแต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ตรวจดูเอกสารในซองดังกล่าวจึงไม่ทราบว่าเป็นรถที่ได้มาโดยผิดกฎหมายนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผลและผิดปกติวิสัยดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น และที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าการซื้อขายรถยนต์กระบะของกลางเป็นการซื้อขายเงินดาวน์ในราคา 80,000 บาท ซึ่งผู้ซื้อต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อต่อ แต่จำเลยที่ 2 กลับเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ตรวจสอบว่ารถยนต์กระบะของกลางมีการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อมาแล้วกี่งวด เช่าซื้อมาจากบริษัทใด และขาดส่งค่าเช่าซื้อมาแล้วกี่งวด ยิ่งส่อแสดงถึงพฤติกรรมอันผิดปกติวิสัยของจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเสียก่อนซึ่งเป็นพิรุธ แม้จะรับฟังได้ว่านายประวิทย์เป็นผู้เปลี่ยนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กระบะของกลางโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมเปลี่ยนด้วยดังที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างในฎีกาก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 จะไม่ทราบว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นรถที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีอันเป็นพิรุธของจำเลยที่ 2 แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 2 รับรถยนต์กระบะของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และเมื่อความผิดนั้นเข้าลักษณะชิงทรัพย์ จำเลยที่ 2 จึงกระทำความผิดฐานรับของโจร ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยที่ 2 โดยกระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ในความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสองก็ตาม แต่การจะลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่า ในขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ทั้งนี้ตามมาตรา 62 วรรคท้าย ซึ่งในข้อนี้ตามทางพิจารณาได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับรถยนต์กระบะของกลางมาจากนายแขกเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเมื่อศาลฎีกาไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง แล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 357 วรรคสอง นั้น ชอบหรือไม่ เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 5 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share