คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำความผิดแม้จะกระทำต่อเนื่องและใกล้ชิดกันจะเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือต่างกรรมกันนั้น ต้องพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำด้วย เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก่อน 1 นัด ทันทีที่ผู้ตายกระโดดลงจากรถ ผู้ตายล้มลงและหมดสติไป และเมื่อผู้เสียหายกระโดดลงจากรถ จำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก 1 นัด ทันที การกระทำของจำเลยจึงเห็นได้ชัดว่า มีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำทั้งสองครั้งแตกต่างกัน กล่าวคือหากผู้เสียหายไม่กระโดดลงจากรถ จำเลยอาจไม่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 6 เดือน ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 20 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 30 ปี 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำผิดของจำเลยข้อหาฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 15 ปี รวมจำคุก 15 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 15 มิถุนายน 2546 นายประเสริฐ พาลูกจ้างประมาณ 10 คน รวมทั้งผู้ตายกับผู้เสียหาย ขับรถกระบะไปหาจำเลยที่บ้านเช่าในซอยเยื้องหมู่บ้านจิตรณรงค์ 6 ถนนบางกรวย – จงถนอม ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายวิวัฒน์หรือช้าง ทำหน้าที่ขับรถ แต่ไม่พบจำเลยจึงพากันกลับ ขณะขับรถจะออกจากปากซอยบ้านจำเลยเป็นเวลา 21 นาฬิกา พบภริยาจำเลยขับรถจักรยานยนต์ มีบุตรีและจำเลยนั่งซ้อนท้ายมาทางขวาของรถกระบะพอดี ผู้ตายตะโกนเรียกจำเลยแล้วกระโดดลงจากรถ จำเลยชักอาวุธปืนสั้นออกมายิง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณท้องของผู้ตาย ผู้เสียหายกระโดดลงจากรถ จำเลยยิงมาที่ผู้เสียหายอีก 1 นัด กระสุนปืนถูกต้นแขนขวาของผู้เสียหาย แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปเพียงคนเดียว ผู้ตายกับผู้เสียหายถูกนำส่งโรงพยาบาล หลังจากเกิดเหตุสองวันผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายกระดูกแขนขวาหัก ต้องรับการผ่าตัด ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 จำเลยถูกจับที่จังหวัดน่าน เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามหมายจับว่า ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยให้การปฏิเสธ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุมและแจ้งข้อหาเพิ่มว่ามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยให้การปฏิเสธ จำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้
มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้วจึงยิงผู้เสียหายในระยะเวลาไล่เลี่ยกันเป็นการกระทำต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดแม้จะกระทำต่อเนื่องและใกล้ชิดกันจะเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือต่างกรรมกันนั้นต้องพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก่อน 1 นัด ทันทีที่ผู้ตายกระโดดลงจากรถ ซึ่งได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ตายว่า เมื่อถูกยิงก็ล้มลงและหมดสติไป และเมื่อกระโดดลงจากรถจำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก 1 นัด ทันที การกระทำของจำเลยจึงเห็นได้ชัดว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำทั้งสองครั้งแตกต่างกัน กล่าวคือหากผู้เสียหายไม่กระโดดลงจากรถ จำเลยอาจไม่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 10 ปี รวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้ว 25 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share