คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3334/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แจ้งให้ ถ. เจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอผู้ทำหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนต่าง ๆ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคำขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเอกสารบันทึกถ้อยคำซึ่งเป็นเอกสารราชการและมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้หายไป แม้มิได้บรรยายว่า ถ.เป็นเจ้าพนักงานที่ดินก็ย่อมเข้าใจได้ว่าถ.เป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 แล้ว ฟ้องโจทก์หาเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมหรือขาดองค์ประกอบความผิดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา137, 267, 91 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 267 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิด2 กรรม เรียงกระทงลงโทษกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ลงโทษจำคุก 3 เดือนจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้บังอาจแจ้งให้นายถาวร (ที่ถูกนางถาวร) อินทร์สุวรรณ เจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอขุขันธ์ ผู้ทำหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนต่าง ๆ โดยมิได้บรรยายว่านางถาวร เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ระบุว่านางถาวรเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอขุขันธ์ ผู้ทำหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนต่าง ๆ ย่อมเข้าใจได้ว่านางถาวรเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 แล้วจึงหาเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมหรือขาดองค์ประกอบความผิดไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share