คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114-3119/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ที่กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดนั้น หมายถึงราคาธรรมดาที่อาจจะซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ มิใช่หมายความว่าถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีหลักฐาน การจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานที่ดินก็จะต้องถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทน
ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2520 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่3 ชำระเงินเพิ่มแก่โจทก์โดยให้เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้นำเงินไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง แต่คดีนี้โจทก์มิได้ฎีกาเป็นแต่กล่าวมาในคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งหกสำนวนบรรยายฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่าเมื่อปี พ.ศ. 2519 และปี พ.ศ. 2524 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน และแขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2519 และ พ.ศ.2524 (ฉบับที่ 2) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 เพื่อสร้างทางหลวงสามยใหม่ และขยายทางหลวงสายเดิมให้รับกับสะพานที่จะร้างใหม่ข้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ทั้งนี้โดยกำหนดให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ดินของโจทก์ทั้งหกสำนวนถูกเวนคืน และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้กำหนดว่าค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งหกสำนวนตามลำดับนี้คือ 164,000 บาท(เฉลี่ยตารางวาละ 10,051.41 บาท) 42,800 บาท เฉลี่ยตารางวาละ 4,000 )บาท 110,400 บาท (เฉลี่ยตารางวาละ 4,000 บาท) 1,487,000 บาท(เฉลี่ยตารางวาละ 4,096.41 บาท) 41,600 บาท (เฉลี่ยตารางวาละ 4,000 )บาท และ 22,000 บาท (เฉลี่ยตารางวาละ 4,000) บาท ซึ่งโจทก์ทั้งหกสำนวนเห็นว่าไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉ่บับที่ 295 ข้อ 76 โจทก์ทั้งหกสำนวนจึงร้องเรียนต่อจำเลยที่2 เพื่อให้กำหนดค่าทดแทนใหม่ตามความเป็นธรรม แต่จำเลยที่ 2 ได้แจ้งยืนยันค่าทดแทนที่เจ้าหน้าที่กำหนด เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโจทก์ทั้งหกสำนวนจึงขอรับค่าทดแทนโดยสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินส่วนที่โจทก์ควรจะได้รับ ที่ดินของโจทก์ทั้งหกสำนวนมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ตารางวาละ 40,000 บาท แต่ขอเรียกร้องเพียงตารางวาละ 30,000 บาท เว้นเฉพาะโจทก์คดีดำที่ 15486/2525 และ 15487/2525 ขอเรียกร้องตารางวาละ 35,000 บาท เมื่อคิดหักกับค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับมาแล้วจะเป็นเงินค่าทดแทนที่จะต้องได้รับเพิ่มอีกตามลำดับดังนี้คือ 385,000 บาท 278,200 บาท 855,600 บาท 11,218,000บาท 270,400 บาท และ 143,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2520 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดค่าทดแทน การกำหนดค่าทดแทนเป็นอำนาจของคณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้มีหน้าที่ทำการเจรจาต่อรองจัดซื้อที่ดิน ชดเชยค่ารื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างกับต้นไม้ที่ถูกโค่นล้ม ต่อมาคณะกรรมการได้มีมติให้จ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามบัญชีราคาที่ดินอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามราคาตลาดเพื่อให้ใช้เป็นทุนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งได้กำหนดราคาไว้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 ทั้งนี้เพราะในระหว่างปี พ.ศ. 2520-2524ไม่มีการซื้อขายที่ดินบริเวณที่ถูกเวนคืนหรือในบริเวณใกล้เคียง จึงเป็นการกำหนดราคาโดยอาศัยหลักการและวิธีการตามขั้นตอนในการกำหนดค่าทดแทนอย่างถูกต้อง เป็นราคาที่สมควรและยุติธรรม ทั้งโจทก์มิได้เสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการภายใน 6 เดือน โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้อง และโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินให้โจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525, 15419/2525, 15486/2525, 15519/2525 และ 15525/2525จำนวน 95,500 บาท 21,400 บาท 55,200 บาท 691,000 บาท 20,800 บาทและ 11,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4
โจทก์คดีหมายเลขดำ 15419/2525, 15486/2525, 15487/2525, 15519/2525และ 15525/2525 และจำเลยที่ 3 ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินให้โจทก์สำนวนที่ 2 ถึงสำนวนที่ 6 จำนวน 64,200 บาท 165,600 บาท2,143,000 บาท 62,400 บาท และ 33,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ทั้งหกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นฎีกา คงมีเพียงข้อเดียวว่า ค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรจะเป็นเท่าไร
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 สามารถนำสืบได้ว่าในระหว่างวันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนใช้บังคับไม่มีการซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงนั้นเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ที่กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดนั้นหมายถึงราคาธรรมดาที่อาจจะซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบได้มิใช่หมายความว่าถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานที่ดินก็จะต้องถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนเพราะเป็นคนละราคาและราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของทางราชการนั้นอาจจะต่ำหรือสูงกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์นำสืบได้หรือไม่ว่า ราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดมีราคาตารางวาละเท่าใด ปัญหานี้ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ทุกสำนวนอยู่ติดกับซอยอุทัย ซึ่งแยกจากถนนประชาธิปกเป็นซอยกว้างประมาณ 12 เมตรมีรถประจำทางวิ่งผ่านซอยอุทัย 2 สาย บริเวณที่ดินของโจทก์ทั้งหกสำนวนเป็นทำเลค้าขาย การซื้อขายที่ดินบริเวณนั้นโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525 เบิกความว่า ร้านอีแอ่นซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ดังกล่าว 5 ห้องซื้อจายกันเงินเงิน 600,000บาท ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบแผนที่ที่ดินบริเวณที่ถูกเวนคืนกับเลขที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินของนางอุไร คือเลขที่ดินที่1112 และ 1136 ประกอบกับรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการจัดซื้อที่ดินและชดเชยค่ารื้อถอนอาคาร ฯ ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2524 (หน้า4) แล้วปรากฏว่าร้านอีแอ่นก็คือที่ดินของนายอุไร ศักดิ์วานิชกุล นั่นเอง จากหลักฐษนดังกล่าวแสดงว่าที่ดินของนายอุไรซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525 ประมาณ 5ห้อง ซื้อขายกันเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2515 เนื้อที่ดิน 16.7ตารางวา รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 600,000 บาท เมื่อกักค่าก่อสร้างออก 100,000 บาท จะเป็นราคาที่ดินตารางวาละ 29,940 บาท เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าราคาที่ดกินในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นปี่ที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับนั้น ราคาย่อมจะสู่งกว่าในปี พ.ศ. 2515ดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดของที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525 ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับย่อมมีราคาสูงกว่าตารางวาละ 29,940 บาท ดังนั้นการที่ศาลล่างกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามหมายเลขดำที่ 15417/2525 ตารางวาละ 15,000 บาทและโจทก์คดีดังกล่าวมิได้อุทธรณ์ฎีกานับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 อยู่แล้ว
สำหรับโจทก์อีก 5 สำนวนนั้น เมื่อดูจากแผนที่ที่ดินบริเวณที่ถูกเวนคืนแล้วจะเห็นว่าที่ดินของโจทก์คดีหมายเลขดำที่15417/2525 อยู่บริเวณปากซอยอุทัยส่วนของโจทก์อีก 5 สำนวนอยู่เข้ามาในซอยและคำเบิกความของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15419/2525และ 15519/2525 ที่ว่า ห้องของตนเป็นห้องที่ 16 และ 17 นับจากปากซอยอุทัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดไม่น่าจะแต่กต่างกันมาก ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนให้ในราคาตารางวาละ 10,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ดีในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าถ้าศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มให้เจ้าของได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนใช้บังคับ คือวันที่ 1 มกราคม 2520 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 เสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่22 มกราคม 2525 จึงไม่ถูกต้องแต่เนื่องจากโจทก์เป็นแต่กล่าวมาในคำแก้ฎีกา โดยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจจะแก้ไขได้
พิพากษายืน.

Share