แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้โรงงานบางประเภทได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทั้งหมด ไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่มีผลลบล้างการกระทำซึ่งเป็นความผิดอันได้กระทำลงก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าโดยมีจักรเย็บผ้า 8 เครื่อง และประกอบกิจการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512มาตรา 8, 12, 43, 44 และให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าได้รับอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 มาตรา 8, 12, 43, 44 ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามมาตรา 43ปรับ 20,000 บาท ตามมาตรา 44 จำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าได้รับอนุญาต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ใช้จักรเย็บผ้า 8 เครื่อง และเครื่องตัดผ้าอีก 1 เครื่อง มีกำลังรวม 2.25 แรงม้า และเปิดโรงงานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ต่อมามีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 19(พ.ศ. 2528) เรื่องโรงงานที่ได้รับการยกเว้นจากการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ซึ่งมีข้อความโดยสรุปว่า ให้โรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวและเป็นโรงงานตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มที่มีจำนวนจักรเย็บผ้าไม่เกิน 20 เครื่อง ได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามบทบัญญติแห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตทั้งหมดจึงมีปัญหาว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประกาศของรัฐมนตรีซึ่งได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจึงเป็นเพียงประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นถือไม่ได้ว่าเป็นกฎหมายดังนั้นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2528)จึงมิใช่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสองประกาศฉบับนี้จึงไม่มีผลลบล้างการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นความผิดอันได้กระทำลงก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น’
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 มาตรา 8, 12, 43, 44 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2518 มาตรา 5 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 4เป็นความผิด 2 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ให้วางโทษตามมาตรา 43, 44 ปรับกระทงละ 5,000 บาทรวม 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 คงปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ส่วนคำขอให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานนั้นปรากฏว่าขณะยื่นฟ้องประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวประกาศใช้บังคับแล้ว จำเลยไม่ต้องขออนุญาตอีก จึงให้ยกคำขอนี้.