แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งติดจำนอง ไม่มีบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาล เมื่อผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดในกรณีที่จะขอให้เอาเงินจากการขายทอดตลาดชำระ แก่ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด สิทธิของผู้รับจำนองหาได้ระงับไปไม่ เพราะสัญญาจำนองจะระงับสิ้น ไปก็เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 เท่านั้น
จำนองเป็นทรัพย์สิทธิติดไปกับตัวทรัพย์เสมอ แม้ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่าไม่มียอดหนี้จำนอง ก็หมายความเพียงเจ้าหนี้จำนองมิได้แจ้งยอดหนี้มาให้ทราบ มิใช่เป็นการปลอดหนี้จำนอง เมื่อประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเงื่อนไขในการขายว่าไม่รับรองและไม่รับผิดในการรอนสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ซื้อจะต้องระวังและสอบสวนถึงจำนวนหนี้จำนอง การละเลยจึงเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายของโจทก์เอง
โจทก์ผู้รับโอนที่ดินซึ่งติดจำนองอยู่กับจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องภาระจำนองโดยการไถ่ถอนจำนองตามบทบัญญัติลักษณะ 12 หมวด 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ในประกาศขายทอดตลาดระบุว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างติดจำนองธนาคารกรุงไทย จำกัดแต่ไม่มียอดหนี้จำนอง ขายโดยติดจำนอง โจทก์ชำระเงินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ปลอดจำนอง
จำเลยให้การว่า นายปิยะจำนองทรัพย์พิพาทแก่จำเลยเป็นประกันหนี้นายปิยะยังไม่ได้ชำระหนี้แก่จำเลย จึงไม่อาจปลอดจำนองได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่มีบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาลแต่อย่างใดและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๙ ก็บัญญัติแต่เพียงว่า ถ้าจะขอให้ขายทอดตลาดเอาเงินชำระให้ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด ให้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาด เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอเช่นนั้นได้ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองไม่ ฉะนั้น เมื่อผู้รับจำนองไม่ประสงค์ใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๙ผู้รับจำนองก็ยังคงมีสิทธิอยู่ตามเดิม หาทำให้สัญญาจำนองระงับสิ้นไป ไม่เพราะสัญญาจำนองจะระงับสิ้นไปก็เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๔๔ เท่านั้น ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑๙ และมาตรา ๓๒๐ ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบัญชีและการจ่ายเงินในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนร้องขอให้บังคับคดีหรือได้มีการแจ้งให้ทราบซึ่งการจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำหน่ายได้มาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องการระงับสิ้นไปของสัญญาจำนองซึ่งเป็นพิพาทกันในคดีนี้
ฉะนั้น เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายโดยติดจำนองไปด้วย แม้ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่าไม่มียอดหนี้จำนองตามก็มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้จำนองไม่ได้แจ้งยอดหนี้มาให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าเป็นการปลดหนี้จำนองไม่ เพราะจำนองเป็นทรัพย์สิทธิติดไปกับตัวทรัพย์ ภารจำนองจึงติดไปกับตัวทรัพย์ด้วยเสมอ และอีกประการหนึ่งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเงื่อนไขในการขายว่าไม่รับรองและไม่รับผิดในการรอนสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องระวังและสอบสวนเอาเองว่าหนี้จำนองมีอยู่เท่าใด เพราะสามารถติดต่อสอบถามได้จากจำเลยผู้รับจำนองอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ละเลยไม่สอบสวนให้แน่นอนก่อนตกลงซื้อที่พิพาท จึงเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายของตนเอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ ๑๒ หมวด ๕ ว่าด้วยจำนอง ได้บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แล้ว โจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งติดจำนองอยู่กับจำเลย จึงมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องภารจำนองออกจากตัวทรัพย์นั้นโดยการไถ่ถอนจำนองตามบทบัญญัติในหมวด ๕ ดังกล่าว โจทก์จะมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนลบจำนองไม่ได้
พิพากษายืน