แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำให้การของจำเลยข้อ 1.1 และ 1.2 อ้างว่าผู้บริหารของจำเลยไม่มีอำนาจทำสัญญาจ้างโจทก์แทนจำเลย สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ส่วนคำให้การข้อ 1.4 อ้างว่าโจทก์พ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไปแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งดังกล่าวต่อไป เป็นการยอมรับว่าจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ในตำแหน่งรองอธิการบดีตามสัญญาจ้างแต่ปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาสิ้นผลผูกพันคำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง
จำเลยโดยอธิการบดีของจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งรองอธิการบดี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 90,000 บาท ก่อนถึงวันเริ่มงานตามสัญญาทบวงมหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้จำเลยอยู่ในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยจำเลย แม้หลังจากนั้นอธิการบดีของจำเลยออกคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นรองอธิการบดีโดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการควบคุมฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภาสถาบันแต่งตั้งตามกฎหมายก็ตามแต่จำเลยก็ให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเรื่อยมา จึงเป็นกรณีที่จำเลยเข้าถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาจ้างแล้ว จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว และ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมฯ ที่จะแก้ไขข้อตกลงตามสัญญาจ้างได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น การที่คณะกรรมการควบคุมฯ เคยออกคำสั่งให้โจทก์ไปทำหน้าที่อาจารย์ประจำ และปฏิบัติภาระหน้าที่อื่นตามที่จำเลยมอบหมายโดยปรับอัตราเงินเดือนโจทก์ใหม่เป็นเดือนละ 60,000 บาท โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอมจึงไม่อาจใช้บังคับโจทก์ได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราเดิมตามข้อตกลงตามสัญญาจ้างอันเป็นสภาพการจ้างที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติให้เป็นตามนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 78,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในอัตราเดือนละ 90,000 บาท ตามสัญญาจ้างแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2545 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างแก่โจทก์เดือนละ 90,000 บาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 ไปตลอดเวลาที่จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานอยู่หรือจนครบกำหนดเวลาตามสัญญา คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการแรกว่า คำให้การของจำเลย ข้อ 1.1 และ 1.2 ขัดแย้งกับข้อ 1.4 หรือไม่ เห็นว่า คำให้การของจำเลย ข้อ 1.1 และ 1.2 อ้างว่าผู้บริหารของจำเลยไม่มีอำนาจทำสัญญาจ้างโจทก์แทนจำเลย สัญญาจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ผูกพันจำเลย จึงเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ส่วนคำให้การ ข้อ 1.4 อ้างว่าโจทก์พ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไปแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งดังกล่าวต่อไป เป็นการยอมรับตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ในตำแหน่งรองอธิการบดีตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 แต่ปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดเพราะสิ้นผลผูกพันแล้ว ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราเดิมหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2541 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 จำเลยมีคำสั่งที่ 59/2545 แต่งตั้งนายไพบูลย์ ช่างเรียน เป็นอธิการบดี วันที่ 16 เมษายน 2545 จำเลยโดยนายไพบูลย์ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งรองอธิการบดี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 90,000 บาท มีกำหนด 4 ปี เริ่มทำงานวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2549 วันที่ 23 เมษายน 2545 ทบวงมหาวิทยาลัยมีคำสั่งที่ 88/2545 ให้จำเลยอยู่ในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยจำเลย วันที่ 26 เมษายน 2545 คณะกรรมการควบคุมฯ มีคำสั่งที่ 1/2545 แต่งตั้งนายไพบูลย์เป็นอธิการบดีต่อไปแล้วนายไพบูลย์ออกคำสั่งของจำเลยที่ 150/2545 แต่งตั้งโจทก์เป็นรองอธิการบดีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 โดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการควบคุมฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภาสถาบันแต่งตั้งตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2545 นายไพบูลย์ลาออก คณะกรรมการควบคุมฯ แต่งตั้งนางทองศรี กำภู ณ อยุธยา เป็นอธิการบดีแทนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2545 ต่อมาจำเลยโดยนางทองศรีมอบหมายให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีด้านวิชาการ มีความรับผิดชอบตามข้อ 3 แห่งประกาศของจำเลยลงวันที่ 7 สิงหาคม 2545 โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองอธิการบดีและรับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 90,000 บาท เรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 22 ตุลาคม 2545 คณะกรรมการควบคุมฯ มีคำสั่งที่ 9/2545 ให้โจทก์ไปทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำและปฏิบัติภาระหน้าที่อื่นตามที่จำเลยมอบหมายโดยปรับอัตราเงินเดือนโจทก์ใหม่เป็นเดือนละ 60,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไปโดยโจทก์ไม่ได้ความยินยอม หลังจากนั้นนางทองศรีมอบหมายให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีด้านวิชาการต่อไปตามบันทึกข้อความที่ สอธ 0101/117 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เห็นว่า แม้การแต่งตั้งโจทก์เป็นรองอธิการบดีจะยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมฯ ก็ตาม แต่จำเลยก็ให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเรื่อยมา จึงเป็นกรณีที่จำเลยเข้าถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาจ้าง แล้วจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว และพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมฯ ที่จะแก้ไขข้อตกลงตามสัญญาจ้างได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราเดิมตามสัญญา ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อตกลงตามสัญญาจ้างเป็นสภาพการจ้างที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน