แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับพินัยกรรมบ้านพิพาท ซึ่งเป็นคู่สัญญาผู้ให้เช่าโดยตรงกับจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่า ทั้งได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าฯ ลงมติยินยอมให้ผู้ให้เช่าเข้าอยู่ได้ทั้งนี้แม้เจ้าของบ้านพิพาทเดิมซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมยกให้นั้นยังไม่ตาย ผู้รับพินัยกรรมดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยได้
หญิงมีสามีที่ได้ยื่นฟ้องไว้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี หากสามีได้ทำใบยินยอมอนุญาตยื่นต่อศาลในระหว่างพิจารณา และศาลได้รับไว้ ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 แล้ว
ย่อยาว
ได้ความว่า บ้านพิพาทเป็นของ ผ. ๆ ได้ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์แต่ ผ. ยังมีชีวิตอยู่ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าจากโจทก์ บัดนี้โจทก์ต้องการจะเข้าอยู่อาศัยเอง ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าคณะกรรมการฯ ลงมติยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่ได้ โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายนี้ จึงไม่มีสิทธิขอมติจากคณะกรรมการและโจทก์เป็นหญิงมีสามีฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี กับว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกสำนวน
ศาลฎีกาเห็นว่า ปรากฏตามสัญญาเช่าว่า โจทก์เป็นคู่สัญญาผู้ให้เช่าโดยตรงกับจำเลย และคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าก็รับพิจารณากรณีของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าแล้ว จำเลยจะอ้างเรื่องกรรมสิทธิ์เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหาได้ไม่ ส่วนในเรื่องอำนาจฟ้อง ปรากฏว่า ในระหว่างพิจารณาสามีโจทก์ได้ทำใบยินยอมอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ๆ ได้รับถือว่าเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องเป็นที่พอใจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 แล้ว และศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยนอกสำนวน
พิพากษายืน