แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงหย่าว่า”เรื่องทรัพย์สินไม่มี”แต่ต่อมาภายหลังจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์ทราบว่ามีสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิจะแบ่งได้ตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งแม้โจทก์จะตั้งสิทธิเรียกร้องในการขอแบ่งว่านิติกรรมหย่าเป็นโมฆียะและคดีฟังไม่ได้ว่าข้อตกลงหย่าเป็นโมฆียะก็ตาม ในการแบ่งสินสมรสศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1533ที่ศาลล่างพิพากษาให้จดทะเบียนโอนหุ้นให้โจทก์ครึ่งหุ้นนั้นแม้จะไม่อาจแบ่งแยกหุ้นออกเป็นครึ่งหุ้นได้ก็ตามแต่ในการบังคับตามคำพิพากษาในกรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องขอแบ่งสินสมรสซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1364เว้นแต่ศาลจะพิพากษาเป็นอย่างอื่นเมื่อศาลมิได้พิพากษาเป็นอย่างอื่นหากมีข้อขัดข้องในชั้นบังคับคดีก็ต้องดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นภริยาของจำเลยโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่16สิงหาคม2511มีบุตรด้วยกัน3คนระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันมีสินสมรสเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.)พร้อมบ้าน1หลังราคา10,000,000บาทมีหุ้นที่จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือ30บริษัทเป็นเงิน10,284,450บาทหุ้นที่จำเลยเอาเงินของบริษัทที่จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจซื้อหุ้นของบริษัทอื่นโดยหุ้นที่จำเลยเอาเงินของบริษัทที่จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจไปซื้อมามีมูลค่าสูงกว่าทุนที่แต่ละบริษัทจดทะเบียนไว้จึงสันนิษฐานว่าเงินที่ซื้อเป็นของจำเลยเมื่อวันที่10มีนาคม2531จำเลยได้ขู่เข็ญบังคับให้โจทก์ตกอยู่ในความกลัวแล้วนำโจทก์ไปจดทะเบียนหย่าโดยเจตนาไม่สุจริตจำเลยบันทึกข้อความในหนังสือหย่าว่าเรื่องทรัพย์สินไม่มีความจริงสินสมรสมีจำนวนมากบันทึกที่เกี่ยวกับทรัพย์สินจึงเป็นโมฆียกรรมโจทก์ขอถือเอาคำฟ้องนี้เป็นการบอกล้างโมฆียกรรมดังกล่าวขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์เป็นเงิน71,742,427.40บาทหากแบ่งไม่ได้ให้เอาสินสมรสขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยไม่ได้ขู่เข็ญบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเอาสินสมรสจึงได้บันทึกเกี่ยวกับสินสมรสว่าทรัพย์สินไม่มีการบันทึกข้อความในสัญญาหย่าโจทก์ทราบดีจำเลยกับโจทก์จดทะเบียนหย่าและบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินและการปกครองบุตรผู้เยาว์ด้วยความสมัครใจโจทก์บอกล้างโมฆียกรรมเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินโดยมิได้บอกล้างการจดทะเบียนหย่าด้วยเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและในระหว่างที่จำเลยกับโจทก์อยู่กินเป็นสามีภริยากันมีหนี้สินต่อบุคคลภายนอกด้วยเมื่อหักกลบลบหนี้แล้วคงมีสินสมรสอยู่อย่างมากไม่เกิน2,000,000บาทซึ่งโจทก์ได้ตกลงประนีประนอมกับจำเลยว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์จากจำเลยแล้วสิทธิเรียกร้องขอแบ่งสินสมรสก็ระงับไปขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งหุ้นที่จำเลยมีชื่อถือหุ้นดังต่อไปนี้ให้โจทก์บริษัทละกึ่งหนึ่งของบริษัท เกียรติธานี จำกัดให้จดทะเบียนโอนหุ้นให้โจทก์30หุ้นของบริษัท ไทยเคมีภัณฑ์ จำกัดจดทะเบียนโอนหุ้นให้โจทก์5หุ้นบริษัท ไดอะกล๊าส จำกัดจดทะเบียนโอนให้โจทก์ครึ่งหนึ่งคือ1/2หุ้นบริษัท โพลีฟรีแฟม จำกัด(ที่ถูกคือบริษัท โพลีปรีแฟมแอนด์กลาส จำกัด)จดทะเบียนโอนให้โจทก์2หุ้นบริษัท ณรงค์คีรินทร์ จำกัด2,000หุ้นบริษัท เคมีธุรกิจ จำกัด1/2หุ้นบริษัท ศรีพี่น้อง จำกัด1,300หุ้นบริษัท ศรีชัยเอเยนซี่ จำกัด20หุ้นบริษัท เทพประทานการแร่ จำกัด105หุ้นบริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัด100หุ้นบริษัท ซากาตะไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด3,000หุ้นบริษัท ศรีคีรีเอนเตอร์ไพร์ส จำกัด5,000หุ้นบริษัท ชัยนรินทร์ธุรกิจ จำกัด150หุ้นบริษัท ศรีคีรินทร์จำกัด24941/2หุ้นบริษัท กระจกไทยและการตลาดจำกัด500หุ้นบริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัด27,500หุ้นบริษัท ไทยเทยิน จำกัด150หุ้นธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด499,647หุ้นบริษัท กู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด7,500หุ้นบริษัท เอสเต็ดเอนจิเนียร์ริ่งแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด400หุ้นบริษัท ไทยศรีนครประกันภัยและคลังสินค้า จำกัด171/2หุ้นบริษัท มหานครประกันชีวิต จำกัด25หุ้นและหุ้นบริษัท อุตสาหกรรมทอผ้าไทย จำกัด5421/2หุ้นคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์สละสิทธิต่างๆในทรัพย์สินจึงตกลงเรื่องทรัพย์สินในการจดทะเบียนหย่าว่า”เรื่องทรัพย์สินไม่มี”โจทก์จำเลยตกลงหย่าเด็ดขาดแล้วไม่มีอำนาจจะมารื้อฟื้นขอแบ่งสินสมรสอีกโจทก์บรรยายคำฟ้องตั้งสิทธิเรียกร้องว่าสัญญาหย่าเกิดจากการข่มขู่นิติกรรมหย่าเป็นโมฆียกรรมเมื่อศาลฟังว่านิติกรรมหย่าไม่เป็นโมฆียะกรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิแบ่งสินสมรสเห็นว่าหากโจทก์ไม่ประสงค์จะแบ่งสินสมรสในข้อตกลงหย่าแล้วโจทก์จำเลยก็ชอบที่จะบันทึกข้อตกลงหย่าว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะแบ่งสินสมรสแทนที่จะบันทึกว่า”เรื่องทรัพย์สินไม่มี”การที่โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงหย่าว่า”เรื่องทรัพย์สินไม่มี”แต่ต่อมาภายหลังจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์ทราบว่ามีสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิจะแบ่งได้ตามกฎหมายโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งแม้โจทก์จะตั้งสิทธิเรียกร้องในการขอแบ่งว่านิติกรรมหย่าเป็นโมฆียะและคดีฟังไม่ได้ว่าข้อตกลงหย่าเป็นโมฆียะก็ตามแต่เรื่องการแบ่งสินสมรสยังไม่มีข้อตกลงใดๆระหว่างโจทก์จำเลยบันทึกไว้เพียงแต่บันทึกว่าเรื่องทรัพย์สินไม่มีเท่านั้นถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะสละสิทธิในสินสมรสตามที่จำเลยฎีกาศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องโดยไม่มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โอนหุ้นให้โจทก์แต่ขอเป็นตัวเงินที่แน่นอนทั้งโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าในวันที่โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันนั้นหุ้นมีมูลค่าเท่าใดศาลชอบที่จะยกฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยโอนหุ้นให้โจทก์ไม่ชอบและเกินคำขอและที่ให้จำเลยโอนหุ้นให้โจทก์ครึ่งหุ้นไม่ชอบเพราะไม่อาจแบ่งแยกหุ้นให้เป็นเศษครึ่งหุ้นได้นั้นเห็นว่าโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ1และข้อ2ว่า”1.ขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นจำนวนเงิน71,742,427.50บาทในทันที2.การแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องหากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ขอให้ศาลบังคับขายทอดตลาดที่ดินและบ้านตามฟ้องข้อ2ตลอดจนหุ้นที่จำเลยถือในบริษัทต่างๆเพื่อแบ่งกันตามส่วน”ดังนี้แสดงว่าโจทก์มุ่งประสงค์ขอแบ่งหุ้นที่เป็นสินสมรสกึ่งหนึ่งด้วยหาได้มีคำขอเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่และแม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่าหุ้นที่เป็นสินสมรสมีมูลค่าเท่าใดในวันที่โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันศาลก็พิพากษาให้จำเลยแบ่งหุ้นให้โจทก์กึ่งหนึ่งได้โดยไม่จำต้องพิพากษายกฟ้องเพราะในการแบ่งสินสมรสศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์จำเลยได้ส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1533ส่วนการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จดทะเบียนโอนหุ้นให้โจทก์ครึ่งหุ้นนั้นแม้อาจจะไม่อาจแบ่งแยกหุ้นออกเป็นครึ่งหุ้นได้ก็ตามแต่ในการบังคับตามคำพิพากษาในกรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องขอแบ่งสินสมรสซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมอันจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1364เว้นแต่ศาลจะพิพากษาเป็นอย่างอื่นเมื่อศาลมิได้พิพากษาเป็นอย่างอื่นหากจะมีข้อขัดข้องดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีที่จะต้องดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในส่วนนี้จึงหาได้เป็นการไม่ชอบและเกินคำขอแต่อย่างใดไม่
สำหรับฎีกาจำเลยในข้อที่ว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งหุ้นของบริษัท ศรีคีรีเอนเตอร์ไพร์ส จำกัด5,000หุ้นของบริษัท ชัยนรินทร์ธุรกิจ จำกัด150หุ้นของบริษัท ศรีคีรินทร์จำกัด2,494หุ้นของบริษัท กระจกไทยและการตลาด จำกัด500หุ้นและของธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด499,647หุ้นให้โจทก์โดยไม่ปรากฏอยู่ในคำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องนั้นเห็นว่าโจทก์มิได้บรรยายคำฟ้องว่าหุ้นทั้งห้าบริษัทดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยและขอแบ่งไว้ในคำขอท้ายคำฟ้องจริงดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งหุ้นทั้งห้าบริษัทดังกล่าวให้โจทก์กึ่งหนึ่งด้วยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่าจำเลยมีหุ้นอยู่ในบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัดจำนวน45,000หุ้นแต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งหุ้นดังกล่าวแก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน27,500หุ้นเป็นการแบ่งผิดพลาดนั้นเห็นว่าศาลล่างทั้งสองคำนวณแบ่งหุ้นดังกล่าวผิดพลาดจริง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยแบ่งหุ้นในบริษัท กระจกไทยอาซาฮีจำกัดให้โจทก์22,500หุ้นและไม่ต้องแบ่งหุ้นในบริษัทศรีคีรีเอนเตอร์ไพร์ส จำกัดบริษัท ชัยนรินทร์ธุรกิจ จำกัดบริษัท ศรีคีรินทร์ จำกัดบริษัท กระจกไทยและการตลาด จำกัดและธนาคาร นครหลวงไทย จำกัดให้โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์