แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่22รถจักรยานสองล้อดีกว่าจำเลยให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกและชนิดเดียวกันและให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์นั้นเป็นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)และมาตรา29วรรคสองซึ่งให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ฟ้องเช่นนั้นได้ดังนั้นเมื่อปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์เพียงว่าโจทก์ที่1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีโจทก์ที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ที่2เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนโจทก์ทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้ารถจักรยานสองล้อรถจักรยานสามล้อและอุปกรณ์รถจักรยานดังกล่าวโดยโจทก์ทั้งสองประกอบการค้าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้านั้นแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่1เป็นเจ้าของหรือเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ที่2ในเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่อย่างใดโจทก์ที่1มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้าพิพาทหรือเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนโจทก์ที่1จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)และมาตรา29(2) เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่2เป็นรูปจระเข้หันหน้าไปทางด้านขวาอยู่ภายในวงกลมกับมีอักษรโรมันคำว่า”THECROCODILE”และ”TRADEMARK”อยู่ในรูปคล้ายห่วงติดกับวงกลมเหนือและใต้รูปจระเข้ตามลำดับกับมีรูปอาร์ม6เหลี่ยมอยู่ใต้วงกลมโดยมีอักษรโรมันคำว่า”THECROCODILEENGLANDLTD”โดยมีหยดน้ำ3หยดใต้ตัวอักษรโรมันดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปอาร์มนั้นส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1เป็นรูปจระเข้หันหน้าไปทางด้านซ้ายกับมีรูปดาว5ดวงอยู่ใต้รูปจระเข้ภายในวงกลม2ชั้นระหว่างวงกลม2ชั้นซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวนนั้นมีอักษรโรมันคำว่า”THECROCODILE”และ”FIVESTAR”อยู่เหนือรูปจระเข้และใต้รูปดาว5ดวงนั้นตามลำดับกับมีจุดอยู่ในวงแหวนตรงกึ่งกลางด้านซ้ายและด้านขวาด้านละ1จุดโดยมีรูปอาร์ม6เหลี่ยมอยู่ใต้วงกลมชั้นนอกในรูปอาร์มดังกล่าวมีอักษรโรมันคำว่า”TRADEMARK”อยู่ใต้อักษรโรมันคำว่า”FIVESTAR”ซึ่งอยู่ในวงแหวนดังกล่าวและมีหยดน้ำ3หยดอยู่ด้านล่างซึ่งเครื่องหมายการค้าทั้งสองรูปมีลักษณะคล้ายกันมากโดยมีจุดเด่นเป็นรูปจระเข้อยู่ภายในวงกลมและมีรูปอาร์ม6เหลี่ยมใต้วงกลมนั้นมีตัวอักษรโรมันคำว่า”THECROCODILE”อยู่ในวงกลมด้านบนและมีตัวอักษรโรมันกับหยดน้ำ3หยดอยู่ในรูปอาร์มนั้นซึ่งแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่2และของจำเลยที่1ดังกล่าวมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างอาทิเช่นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่2มีวงกลมชั้นเดียวส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1มีวงกลม2ชั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่2มีอักษรโรมันคำว่า”TRADEMARK”อยู่ด้านล่างของวงกลมส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1มีอักษรโรมันคำว่า”FIVESTAR”อยู่ด้านล่างของวงกลมโดยมีรูปดาว5ดวงอยู่ใต้รูปจระเข้และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่2มีอักษรโรมันคำว่า”THECROCODILEENGLANDLTD”อยู่ในรูปอาร์ม6เหลี่ยมส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1มีอักษรโรมันคำว่า”TRADEMARK”อยู่ในรูปอาร์ม6เหลี่ยมก็ตามแต่ข้อแตกต่างดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยหากไม่พิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนก็ยากที่ประชาชนทั่วไปจะแยกแยะข้อแตกต่างเช่นนั้นได้ประชาชนผู้ซื้อย่อมเรียกขานสินค้าของโจทก์ที่2และจำเลยที่1เหมือนกันว่ารถจักรยานตราจระเข้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1จึงเหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่2จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สืบสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์โจทก์ที่2ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลยที่1โจทก์ที่2จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยที่1และมีสิทธิขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้นั้นได้ตามมาตรา41(1)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท เมื่อโจทก์ที่2เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราจระเข้ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าตราจระเข้ที่จำเลยที่1ได้รับการจดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่1และโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์แม้จำเลยที่1จะเป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา29วรรคสองอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อพิพาทการที่จำเลยที่1ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1กับสินค้ารถจักรยานสองล้อซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่2โดยมิชอบและมีเจตนาเพื่อลวงขายสินค้าของจำเลยที่1ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่2ซึ่งโจทก์ที่2ย่อมได้รับความเสียหายทำให้โจทก์ที่2จำหน่ายสินค้ารถจักรยานสองล้อของโจทก์ที่2ได้น้อยลงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่2แล้วซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองประกอบกิจการค้าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายจักรยานสองล้อ จักรยานสามล้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และอะไหล่ของสินค้าดังกล่าวโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปจระเข้ล้อมรอบด้วยวงกลม และรูปจระเข้ล้อมรอบด้วยวงกลมพร้อมรูปอาร์ม 6 เหลี่ยมใต้วงกลม ถูกเรียกขานจากผู้ซื้อว่า จักรยาน “ตราจระเข้” หรือ “ตราคร็อคโคได”โจทก์ทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้แยกกันและรวมกันกับสินค้าดังกล่าวโดยผลิตสินค้าออกจำหน่ายในประเทศไทยและต่างประเทศติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 20 ปีเศษแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริตลักลอบเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลง แต่งเดิม ด้วยการวางรูปจระเข้ภายในวงกลมให้กลับหัวกลับหางคนละทิศกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเพิ่มเติมรูปดวงดาวเล็ก ๆใต้รูปจระเข้ โดยยังคงรูปลวดลายและรูปรอยอันเป็นสาระสำคัญในลักษณะบ่งเฉพาะในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ โดยเฉพาะสาระสำคัญในการเรียกขานคงเรียกขานว่า “ตราจระเข้” และ/หรือ “ตราคร็อคโคได”เช่นเดียวกับการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้นำเครื่องหมายการค้าที่ทุจริตดัดแปลงขึ้นไปจดทะเบียนตามทะเบียนเลขที่ 112363 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 22 โจทก์ที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งได้ใช้กับสินค้าของโจทก์มาก่อนดังกล่าวต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 171829 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2530นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนโดยให้เหตุผลว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ 112363 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลย โจทก์จึงเป็นเจ้าของมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยลวงขายสินค้าของจำเลยให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าเป็นของโจทก์หรือที่โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย อันเป็นการลวงในแหล่งกำเนิดของสินค้าจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนทั้งจำเลยยังแอบอ้างอาศัยเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายยอดขายสินค้าของโจทก์ตกต่ำลง โจทก์ขอค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาทและค่าเสียหายต่อไปเป็นรายเดือน เดือนละ 50,000 บาทขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย ห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 171829 ของโจทก์ให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนตามทะเบียนเลขที่112363 และร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายต่อไปเป็นรายเดือน เดือนละ 50,000 บาทจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิได้ระบุในคำฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 อย่างใดและได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2ประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ รูปจระเข้เป็นประดิษฐ์กรรมตามธรรมชาติซึ่งไม่มีผู้ใดถือเป็นเจ้าของได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดถือรูปจระเข้เป็นสิทธิของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนของโจทก์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องรูปลักษณะของจระเข้และเครื่องหมายการค้าของจำเลยยังมีรูปดาวอีก 5 ดวงกับมีอักษรภาษาอังกฤษว่า FIVE STAR อันแปลได้ว่า ดาว5 ดวง ประกอบ ทั้งยังมีอาร์มใต้วงกลมเป็นรูป 6 เหลี่ยมอันทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างจากของโจทก์อย่างเห็นได้เด่นชัดจึงเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนจะเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายเพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ โจทก์ก็เสียหายถึงวันฟ้องไม่เกิน 5,000 บาท และเสียหายต่อเดือนไม่เกิน500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่161941 ทะเบียนเลขที่ 112363 ของจำเลยเสียคำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองอีกเดือนละ 20,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 112363 ของจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เห็นว่าที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 171829 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 22 รถจักรยานสองล้อ ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 112363 ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ สำหรับสินค้าจำพวกและชนิดเดียวกันและห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทและให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์นั้น เป็นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)และมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ฟ้องเช่นนั้นได้ดังนั้นเมื่อปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์เพียงว่า โจทก์ที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีโจทก์ที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนโจทก์ทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้ารถจักรยานสองล้อ รถจักรยานสามล้อ และอุปกรณ์รถจักรยานดังกล่าว โดยโจทก์ทั้งสองประกอบการค้าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานสองล้อรถจักรยานสามล้อ บรรดาอุปกรณ์และอะไหล่ของสินค้าดังกล่าวแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของหรือเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ที่ 2 ในเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้าพิพาทหรือเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)และมาตรา 29(2)
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นเห็นว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทในคดีนี้คือเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.5 ของโจทก์ที่ 2 และเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.4 ของจำเลยที่ 1เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวเป็นรูปจระเข้หันหน้าไปทางด้านขวาอยู่ภายในวงกลมกับมีอักษรโรมันคำว่า “THE CROCODILE” และ “TRADE MARK” อยู่ในรูปคล้ายห่วงติดกับวงกลมเหนือและใต้รูปจระเข้ ตามลำดับกับมีรูปอาร์ม 6 เหลี่ยมอยู่ใต้วงกลม โดยมีอักษรโรมันคำว่า “THE CROCODILE ENGLAND LTD” โดยมีหยดน้ำ3 หยด ใต้ตัวอักษรโรมันดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปอาร์มนั้นส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นรูปจระเข้หันหน้าไปทางด้านซ้ายกับมีรูปดาว 5 ดวง อยู่ใต้รูปจระเข้ภายในวงกลม 2 ชั้น ระหว่างวงกลม 2 ชั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวนนั้น มีอักษรโรมันคำว่า “THE CROCODIL” และ “FIVE STAR”อยู่เหนือรูปจระเข้และใต้รูปดาว 5 ดวง นั้น ตามลำดับกับมีจุดอยู่ในวงแหวนตรงกึ่งกลางด้านซ้ายและด้านขวาด้านละ1 จุด โดยมีรูปอาร์ม 6 เหลี่ยม อยู่ใต้วงกลมชั้นนอกในรูปอาร์ม ดังกล่าวมีอักษรโรมันคำว่า “TRADE MARK” อยู่ใต้อักษรโรมันคำว่า “FIVE STAR” ซึ่งอยู่ในวงแหวนดังกล่าวและมีหยดน้ำ 3 หยดอยู่ด้านล่าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีรูปลักษณะคล้ายกันมาก โดยมีจุดเด่นเป็นรูปจระเข้อยู่ภายในวงกลมและมีรูปอาร์ม 6 เหลี่ยม ใต้วงกลมนั้นมีตัวอักษรโรมันคำว่า “THE CROCODILE” อยู่ในวงกลมด้านบนและมีตัวอักษรโรมันกับหยดน้ำ 3 หยด อยู่ในรูปอาร์มนั้นซึ่งแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 และของจำเลยที่ 1ดังกล่าวมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง อาทิเช่นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีวงกลมชั้นเดียว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีวงกลม 2 ชั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีอักษรโรมันคำว่า “TRADE MARK” อยู่ด้านล่างของวงกลม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1มีอักษรโรมันคำว่า “FIVE STAR” อยู่ด้านล่างของวงกลมโดยมีรูปดาว 5 ดวง อยู่ใต้รูปจระเข้ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีอักษรโรมันคำว่า “THE CROCODILE LTD”อยู่ในรูปอาร์ม 6 เหลี่ยมส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีอักษรโรมันคำว่า “TRADE MARK” อยู่ในรูปอาร์ม 6 เหลี่ยม ก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย หากไม่พิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็ยากที่ประชาชนทั่วไปจะแยกแยะข้อแตกต่างเช่นนั้นได้ ประชาชนผู้ซื้อย่อมเรียกขานสินค้าของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 เหมือนกันว่ารถจักรยานตราจระเข้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1จึงเหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาท ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยและจำเลยที่ 2 มิได้เอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลงนั้น ในปัญหานี้โจทก์ที่ 2 เบิกความว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าเป็นรูปจระเข้อยู่ในวงกลมโดยมีตัวอักษรโรมันคำว่า”THE CROCODILE” กับ “TRADE MARK” ตามรูปเครื่องหมายการค้าหมาย จ.4 กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งมีรูปอาร์ม6 เหลี่ยม อยู่ใต้วงกลมเครื่องหมายการค้านั้นโดยมีอักษรโรมันคำว่า “THE CTOCODILE ENGLAND LTD”และหยดน้ำ 3 หยด อยู่ในรูปอาร์มซึ่งอยู่ใต้วงกลมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามรูปเครื่องหมายการค้าหมายจ.5 เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว โดยโจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2520 แต่โจทก์ที่ 2 ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.5โจทก์ทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้นกับรถจักรยานสองล้อที่โจทก์ทั้งสองผลิตออกจำหน่ายตลอดมากว่า 20 ปีแล้ว โดยใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองรวมกันหรือแยกกัน โจทก์ติดเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.5 ที่หน้าตัวถังรถจักรยานสองล้อของโจทก์ ปรากฏตามรถจักรยานสองล้อวัตถุพยานหมาย จ.9จำเลยที่ 2 เพิ่งคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมายจ.5 ของโจทก์ที่ 2 เมื่อปี 2529 เห็นว่า โจทก์ที่ 2 ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.5 มาก่อนจำเลยที่ 1โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 และมีสิทธิขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้นั้นได้ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ ความเสียหายของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการลวงขายของจำเลยโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเสียหายเท่าใดนั้นเมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตรวจจระเข้ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.5 และเครื่องหมายการค้าตราจระเข้ที่จำเลยที่ 1ได้รับการจดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย ล.4 ดีกว่าจำเลยที่ 1 และโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสองอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อพิพาท เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.4เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยโจทก์ที่ 2ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 กับสินค้ารถจักรยานสองล้อที่ผลิตออกจำหน่ายจนเป็นที่แพร่หลายมาก่อนที่จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ถึงประมาณ 20 ปี การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับสินค้ารถจักรยานสองล้อซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์จึงย่อมทำให้สาธารณหลงผิด เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบและมีเจตนาเพื่อลวงขายสินค้าของจำเลยที่ 2 ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2ย่อมได้รับความเสียหายทำให้โจทก์ที่ 2 จำหน่ายสินค้ารถจักรยานสองล้อของโจทก์ที่ 2 ได้น้อยลง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 แล้ว ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 2 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามทะเบียนเลขที่ 112363 คำขอจดทะเบียนเลขที่ 161941 จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 112363 ให้ยกฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์