แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ แต่นำสืบว่ารถยนต์พิพาทเป็นของภริยาโจทก์ตามทะเบียนรถยนต์ ซึ่งย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมของสามีภริยาตามกฎหมาย แต่แม้จะเป็นสินส่วนตัวของภริยา โจทก์ก็เป็นผู้ครอบครองและใช้สอยรถยนต์พิพาท จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่ทำละเมิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงินให้โจทก์ 67,940 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 คงรับผิด 49,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 3 ฎีกาอีกประเด็นหนึ่งว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อรถยนต์นั้นพิเคราะห์แล้วโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ขับรถยนต์พิพาทและเป็นเจ้าของ แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ภริยาโจทก์เป็นเจ้าของเพราะมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์ เห็นว่า รถยนต์พิพาทเป็นของภริยาโจทก์ตามทะเบียนรถยนต์ ปกติย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมของสามีภริยาตามกฎหมาย แต่แม้จะเป็นสินส่วนตัวของภริยา โจทก์ก็เป็นผู้ครอบครองและใช้สอยรถยนต์พิพาท จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้”
พิพากษายืน