คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 332/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรับจ้างผู้เสียหายทำงานบ้านและเลี้ยงดูเด็กหญิง ส.อายุ 9 เดือนบุตรของผู้เสียหาย ต่อมาจำเลยได้เอาตัวเด็กหญิง ส.ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ผู้เสียหายทราบเรื่องจึงพาเจ้าพนักงานตำรวจตามไป พบเด็กหญิง ส. นอนอยู่ในเปลที่ใต้ถุนบ้านหลังหนึ่งขณะนั้นจำเลยยืนบังเสาอยู่และได้เดินออกมา ผู้เสียหายอุ้มเด็กหญิงส. ขึ้นจากเปล พาบุตรสาวพร้อมทั้งจำเลยกลับบ้าน ดังนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาอันจะได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 เพราะการจัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปให้ได้รับเสรีภาพตามมาตรา 316 นั้น จะต้องเป็นการกระทำของผู้กระทำผิดคือจำเลย หรือผู้ที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลย แต่กรณีนี้เป็นเรื่องผู้เสียหายตามไปพบและอุ้มเอาบุตรสาวมาเอง จำเลยมิได้กระทำการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 313จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 313 ลงโทษบทหนักตามมาตรา 313 ประกอบด้วยมาตรา 316 ลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา 76 กึ่งหนึ่ง และลดโทษตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 10 เดือน 15 วัน รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้รับประโยชน์จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุก 3 ปี 9 เดือน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายมีบุตรสาวชื่อเด็กหญิงสุทธาศินี อายุ 9 เดือน ได้จ้างจำเลยทำงานบ้านและเลี้ยงดูบุตรสาว ต่อมาจำเลยได้เอาตัวเด็กหญิงสุทธาศินีไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ผู้เสียหายรู้เรื่องจึงได้พาเจ้าพนักงานตำรวจตามไปพบเด็กหญิงสุทธาศินีนอนอยู่ในเปลที่ใต้ถุนบ้านหลังหนึ่ง ขณะนั้นจำเลยยืนบังเสาอยู่และได้เดินออกมา ผู้เสียหายอุ้มเด็กหญิงสุทธาศินีขึ้นจากเปล พาบุตรสาวพร้อมจำเลยกลับบ้าน และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “การจัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปให้ได้รับเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 นั้น ต้องเป็นการกระทำของผู้กระทำผิดคือจำเลย หรือผู้ที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลย แต่กรณีนี้เป็นเรื่องผู้เสียหายตามไปพบและอุ้มเอาบุตรสาวมาเอง จำเลยมิได้กระทำการใดถือไม่ได้ว่าจำเลยได้จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา อันจะได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา316 จึงทำให้โทษที่จำเลยได้รับเกินกว่า 2 ปี ไม่อาจจะรอการลงโทษได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์มิได้แก้บทมาตรา 316 ที่ศาลชั้นต้นปรับบทไว้เป็นการไม่ถูกต้อง และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 313 โดยมิได้ระบุวรรคใดนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา310 วรรคแรก, 313 วรรคแรก เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 313 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share