คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดมีอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด โจทก์เห็นบ้านจำเลยปลูกในที่พิพาทเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2525 มาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21กันยายน 2526 ค่าเสียหายของโจทก์ก่อนวันที่ 21 กันยายน 2525 ย่อมขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
การฟ้องคดีเกี่ยวด้วยสินสมรส เมื่อโจทก์ได้รับความยินยอมจากสามีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476,1477 แล้ว ก็มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2525 จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายปีละ 5,000 บาท กับค่าใช้จ่ายแก่พนักงานรังวัดอีก 600 บาท ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้แสดงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์เป็นหญิงมีสามี ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้ายึดที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับความยินยอมจากสามีแล้วจึงมีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารให้ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่10745 ตำบลศาลาสูง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ของโจทก์ พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายปี ปีละ 1,200 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525จนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่ารังวัดที่ดินสอบเขตโฉนดที่โจทก์เสียไปจำนวน 600 บาทด้วย กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยเห็นควรกำหนดค่าทนายความให้ 800 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ประเด็นข้อแรกที่จะวินิจฉัยคือ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า ทรัพย์พิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับสามี มิใช่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ ดังนั้น การฟ้องคดีซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับสินสมรส โจทก์จะต้องฟ้องร่วมกันกับสามีหรือได้รับความยินยอมจากสามีก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 และ 1477 ที่ตรวจชำระใหม่ คดีนี้สามีโจทก์ได้ยินยอมอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีได้ตามเอกสารหมาย จ.1 ท้ายฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ปรากฏว่าฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2525 จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายปีละ 5,000 บาท กับค่าใช้จ่ายแก่พนักงานรังวัดอีก 600บาท จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่พิพาทจากนางสอาดเมื่อ 17 ปีมาแล้วและครอบครองจนกระทั่งทุกวันนี้ ค่าเสียหายหากมีก็ไม่เกินปีละ 300 บาท เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จำเลยทั้งสามจึงเข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้เป็นอย่างดี ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่ ส่วนที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ปรากฏว่า โจทก์มีเอกสารสิทธิ์คือโฉนดที่ดินตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.2 เป็นพยาน มีนายเภา เร่งรัด กับนางลำไยหยดย้อย พยานโจทก์ และมีที่ดินใกล้เคียงที่พิพาทเบิกความว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และจำเลยทั้งสามเพิ่งบุกรุกเข้าไปในที่พิพาทเมื่อ 2 ปีมานี้เอง โดยเฉพาะนายปราโมทย์ รัตนเศวตนันท์พยานโจทก์ และเป็นพนักงานรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีได้ไปรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่พิพาทตามคำสั่งศาลเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปตามแนวเส้นสีเขียวของแผนที่พิพาทเข้าไปในแนวเส้นสีแดงซึ่งเป็นโฉนดที่ดินของโจทก์ ปรากฏตามแผนที่พิพาทในคดีอาญาของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่1191/2526 ส่วนที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่อีกฟากหนึ่งของถนนสายลพบุรี – สิงห์บุรี ที่จำเลยอ้างว่าซื้อที่พิพาทจากนางสอาดมานานถึง 17 ปี ก็ปราศจากหลักฐาน ได้ความจากพยานจำเลยเพียงว่าเมื่อประมาณ 6 ปีมานี้ ให้นางญวน ทองคำ เช่าที่พิพาทเพื่อปลูกบ้านมีกำหนด 1 ปี และกล่าวอ้างเข้ามาลอยๆ มิได้นำนางญวนหรือสามีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาให้นางญวนเช่ามาสืบสนับสนุน จำเลยกลับรับว่าเพิ่งปลูกบ้านและเข้าไปอยู่ในที่พิพาทเมื่อประมาณ 4 ปีมานี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามเข้าครอบครองที่พิพาทมาเกินกว่า 10 ปี เมื่อที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและมีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ เชื่อว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยการที่จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
สำหรับค่าเสียหายมีเพียงใด และโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายคดีขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า ที่พิพาทมีราคา10,000 บาท เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่พิพาททำให้โจทก์เสียเสียหายคิดเป็นเงินปีละ 5,000 บาท และเสียค่าใช้จ่ายการรังวัดที่ดินอีกเป็นเงิน 600 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายของที่พิพาทแก่โจทก์ปีละ 1,200 บาท กับค่ารังวัด 600 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 โต้เถียงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันอยู่ เมื่อเจ้าพนักงานรังวัดสอบเขตในคดีอาญาจึงปรากฏว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ การกระทำของจำเลยหาเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ จะนำอายุความทางอาญามาใช้บังคับมิได้ และโจทก์เพิ่งเห็นบ้านจำเลยไปปลูกในที่พิพาทเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2525 โจทก์จึงต้องใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดจากจำเลยทั้งสามภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด แต่ปรากฏว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2526 สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจึงมีเพียง 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคือตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2525 เป็นต้นไปส่วนค่าเสียหายจากการละเมิดของจำเลยทั้งสามก่อนนั้น คดีของโจทก์เป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายปีปีละ 1,200 บาท นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2525 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 200 บาท’.

Share