แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนศาลได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดว่า โจทก์ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาทเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นผู้ได้ครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว แม้จะมีการดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทฉะนั้น การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกไว้ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามป.ที่ดิน มาตรา 61 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 6 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ในทำนองเดียวกันจำเลยที่ 7 ผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากจำเลยที่ 6 ในที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้โอน
การได้สิทธิตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาฟังว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ ดังนี้ คดีนี้จำเลยที่ 7 จะอ้างสิทธิใด ๆ ที่เกิดจากเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่
คดีก่อนศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้ตามกฎหมาย ดังนี้โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสิทธิของโจทก์ในคดีก่อน แต่โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ในคดีนี้ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโอนสิทธิครอบครองให้โจทก์ไม่ได้และการที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 7 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วใส่ชื่อโจทก์ลงในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทน จะแปลว่าเป็นการขอให้บังคับให้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ได้ จึงชอบที่ศาลจะยกคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดังกล่าวเสีย
คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา และพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 158 ย่อมไม่ถูกต้อง ต้องพิพากษาว่าสำหรับค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์