แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การนั่งพิจารณาคดีแรงงาน ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษาผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 17 และมาตรา 31 ซึ่งให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนั้น ถ้าจำเลยเห็นว่าศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดี โดยผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นองค์คณะไม่ได้นั่งร่วมในการพิจารณาคดี แต่มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างคนอื่นมานั่งพิจารณาคดีแทนจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจะต้องยื่นคำคัดค้านก่อนมี คำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เมื่อจำเลย ทราบวันที่ที่ผู้พิพากษาสมทบซึ่งเป็นองค์คณะมิได้นั่งพิจารณาคดี จำเลยย่อมทราบในวันดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบ และควรจะคัดค้านเสียภายใน 8 วัน เมื่อจำเลยมิได้ คัดค้านจนศาลแรงงานกลางพิพากษาจำเลยจะมาอุทธรณ์ โต้แย้งว่า การพิจารณาคดีในวันนั้น ๆ ไม่ชอบหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นใจความเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 45,000 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 113,400 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,500 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 14,490 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,500 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 3,780 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะโจทก์ที่ 2 ลักลอบเล่นสลากกินรวบในบริษัทจำเลยโดยใช้สำนักงานและโทรศัพท์ของจำเลยสั่งซื้อจากบุคคลภายนอกในเวลาทำงาน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้สมคบกันนำเครื่องเทปเข้าไปบันทึกเสียงการประชุมของผู้บริหารเพื่อนำไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกับผู้มีชื่อเสียงชักจูงพนักงานอื่นของจำเลยให้ลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่น ซึ่งประกอบธุรกิจเดียวกัน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตมีเจตนากลั่นแกล้งหรือจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรงจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 2 ลักลอบเล่นการพนันสลากกินรวบในบริษัทจำเลยโดยใช้โทรศัพท์ ทั้งพยานจำเลยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 นำเครื่องเทปเข้าไปในห้องประชุม และการประชุมในวันดังกล่าวจำเลยจัดให้ประชุมเรื่องอะไร สำคัญอย่างไร ถึงขนาดที่โจทก์ทั้งสองต้องลักลอบนำเครื่องเทปเข้าไปบันทึกเสียง ส่วนเรื่องที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองชักชวนลูกจ้างจำเลยให้ลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่นนั้น แม้ปรากฏว่ามีลูกจ้างจำเลยหลายคนลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่น แต่ไม่แน่ชัดว่าจะไปโดยการชักชวนของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 45,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 113,400 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,500 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 14,490 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,500 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 3,780 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 และวันที่ 17 กันยายน 2541 นายเศกสม บัณฑิตกุล และนายประชัน ทาตะชัย ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งเป็นองค์คณะคดีนี้ไม่ได้นั่งร่วมในการพิจารณาคดีด้วยแต่มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาฝ่ายลูกจ้างคนอื่นมานั่งพิจารณาคดีแทนการพิจารณาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การนั่งพิจารณาคดีแรงงานศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษาผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 17 และมาตรา 31แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ดังนั้นถ้าจำเลยเห็นว่าศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดี โดยผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นองค์คณะไม่ได้นั่งร่วมในการพิจารณาคดี แต่มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างคนอื่นมานั่งพิจารณาคดีแทน อันเป็นการผิดระเบียบจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจะต้องยื่นคัดค้านก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 และวันที่ 17กันยายน 2541 ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นองค์คณะมิได้นั่งพิจารณาคดี จำเลยย่อมทราบแล้วในวันดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบ จำเลยก็ควรจะคัดค้านเสียภายใน8 วัน เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลแรงงานกลางพิพากษาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 ไปแล้วจำเลยจะมาอุทธรณ์โต้แย้งว่าการพิจารณาคดีในวันดังกล่าวไม่ชอบหาได้ไม่ กรณีถือได้ว่าการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน