คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นปลัดอำเภอทำหน้าที่นายไปรษณีย์อนุญาตเช่นเดียวกับนายอำเภอและปลัดอำเภออีกหลายคน เมื่อเงินไปรษณีย์หายไปโดยไม่ปรากฏว่าหายในระหว่างความรับผิดของใครแม้จะอ้างว่าทุกๆ คนต่างประมาทเลินเล่อ ก็มิใช่ประมาทร่วมกันจะเฉลี่ยให้จำเลยรับผิดด้วยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2488 จนถึงเดือนธันวาคม 2490 จำเลยรับราชการเป็นปลัดอำเภอหนองบังลำภูเมื่อระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2488 จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2490จำเลยได้รับแต่งตั้งมอบหมายจากนายอำเภอหนองบังลำภู ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย ให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่เป็นนายไปรษณีย์อนุญาตอำเภอแทนนายอำเภอหลายครั้ง และเป็นผู้ได้รับอนุมัติลายมือชื่อให้เซ็นชื่อในตั๋ว ธ.น. ในฐานะเป็นนายไปรษณีย์อนุญาตอำเภอตามข้อบังคับว่าด้วยการธนาณัติ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างหนึ่งของจำเลย และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายไปรษณีย์อนุญาตอำเภอ ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะนายไปรษณีย์อนุญาตอำเภอด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง มิได้ปฏิบัติการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ โดยจำเลยละเลยไม่ควบคุมดูแลให้นายเลื่อม พรหมสิทธิเสมียนผู้ทำงานไปรษณีย์อนุญาตอำเภอแห่งนี้ปฏิบัติงานในการรับฝากเงินธนาณัติ และการเก็บรักษาเงินให้ถูกต้อง เช่นปล่อยให้นายเลื่อมเซ็นชื่อในแบบ ธ.น. ต่าง ๆ คนเดียวบ้างไม่นำเงินรายได้ส่งสมุห์บัญชีตามระเบียบบ้าง หรือนำส่งแต่ไม่ครบจำนวนบ้าง ไม่นำพา ตรวจสอบกิจการของไปรษณีย์อนุญาตให้ดำเนินไปโดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนเป็นเหตุให้ผู้ทุจริตมีโอกาสกระทำการทุจริตยักยอกเอาเงินผลประโยชน์ของไปรษณีย์อนุญาตอำเภอไปเป็นจำนวนมาก และว่า นอกจากจำเลยยังมีนายเลื่อม พรหมสิทธิ เสมียนไปรษณีย์อนุญาต และนายแท้ ประสาทนรสุขนายอำเภอหนองบังลำภู ผู้เป็นนายไปรษณีย์อนุญาตโดยตำแหน่ง และเจ้าพนักงานไปรษณีย์ปลายทางอื่น ๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง มิได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ในระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2488 จนถึงวันที่9 กุมภาพันธ์ 2490 เช่นเดียวกันกับจำเลย ซึ่งจะต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยในความเสียหายที่เกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2490 ที่ว่าการอำเภอหนองบังลำภู ซึ่งเป็นที่ทำการของไปรษณีย์อนุญาตแห่งนี้ ได้ถูกผู้ร้ายวางเพลิงไหม้หมดทั้งหลังเพื่อมุ่งประสงค์ทำลายเอกสารหลักฐานการบัญชีต่าง ๆ เนื่องจากมีผู้ทุจริตยักยอกเอาเงินของไปรษณีย์อนุญาตไปเป็นจำนวนมากเอกสารหลักฐานบัญชีต่าง ๆ ถูกทำลายหมด หลังจากเกิดเพลิงไหม้โจทก์และกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนปรากฏว่า สาเหตุการวางเพลิงเกิดจากมีการทุจริต ในวงงานของไปรษณีย์อนุญาตอำเภอนี้ได้รับและสั่งจ่ายเงินธนาณัติไว้เป็นเงิน 185,446 บาท 77 สตางค์ และได้นำส่งคลังแล้วรวมทั้งเงินคงเหลือเป็นเงิน 115,073 บาท 21 สตางค์ เงินคงขาดหายจากบัญชีไป 70,373 บาท 56 สตางค์ โดยมีเจ้าหน้าที่ทุจริตยักยอกเอาไปในระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2489 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2490 แต่การตรวจสอบของคณะกรรมการไม่ปรากฏชัดว่า เจ้าพนักงานผู้ใดทุจริตยักยอกเอาไปจำนวนเท่าใดแน่เพราะหลักฐานบัญชี ซึ่งเก็บไว้ถูกเพลิงไหม้หมด เงิน 70,373 บาท 56 สตางค์ ที่ขาดหายจากบัญชีเป็นส่วนหนึ่งของเงินธนาณัติที่ได้รับและสั่งจ่ายในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2489 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2490 ซึ่งได้รับไว้ทั้งหมดเป็นเงิน 175,408 บาท 06 สตางค์ และในจำนวนเงินรับ 175,408 บาท 06 สตางค์ นี้เป็นเงินที่ได้รับไว้และสั่งจ่ายในขณะที่จำเลยทำหน้าที่เป็นนายไปรษณีย์อนุญาต และจำเลยเป็นผู้เซ็นชื่อในตั๋ว ธ.น. ต่าง ๆ ในฐานะนายไปรษณีย์อนุญาตรวม ธ.น. 258 ฉบับ รวมเป็นเงิน 100,422 บาท 98 สตางค์ ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ เงินนอกจากนี้เป็นเงินที่อยู่ในความรับผิดของนายแท้นายอำเภอ และนายเลื่อมเสมียนผู้ทำงานไปรษณีย์ในการที่ได้เซ็นชื่อในตั๋ว ธ.น.ต่าง ๆ ในฐานะนายไปรษณีย์อนุญาตอำเภอเช่นเดียวกับจำเลย และเจ้าพนักงานไปรษณีย์ปลายทางที่บกพร่องซึ่งจะต้องร่วมกันรับผิดชอบอีกรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 74,985 บาท 08 สตางค์ คณะกรรมการและโจทก์ และกระทรวงมหาดไทยได้ตกลงให้จำเลยและผู้มีส่วนต้องรับผิด เฉลี่ยรับผิดชอบชดใช้เงินจำนวนที่ขาดบัญชีไป 70,373 บาท 56 สตางค์ มากน้อยตามส่วนแห่งจำนวนเงินที่รับไว้ในขณะที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วปรากฏว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้เงินที่ขาดให้แก่โจทก์เป็นเงิน 40,289 บาท 61 สตางค์ เงินที่ขาดบัญชีไปนอกจากนี้ตกอยู่ในความรับผิดชดใช้ของผู้อื่นดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยจะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2497 ได้แจ้งให้จำเลยชดใช้เงินหลายครั้งก็เพิกเฉยเสีย จึงขอให้จำเลยใช้เงิน 40,289 บาท 61 สตางค์ กับดอกเบี้ย

จำเลยแก้ว่า จำเลยเป็นปลัดอำเภอหนองบังลำภูจริง แต่นอกจากจำเลย ยังมีปลัดอำเภออีก คือ นายอ้วน เคหาสัย นายจักร์ทิพย์วาปีศิริ นายไพบูลย์ จันทร์ดี นายวิภู โสภณรัตน์ และนายแท้ประสาทนรสุข นายอำเภอ ผู้ที่เป็นนายไปรษณีย์อนุญาตจึงรวมเป็น6 คน ด้วยกัน เมื่อนายอำเภออยู่ นายอำเภอก็เป็นนายไปรษณีย์เมื่อนายอำเภอไม่อยู่ปลัดอำเภอคนใดคนหนึ่งก็เป็นผู้ทำการแทนตามที่ฟ้องว่า ธ.น. 258 ฉบับ เป็นเงิน 100,422 บาท 98 สตางค์ จำเลยเป็นผู้ลงนามนั้น บางฉบับจำเลยได้ลงนามจริง แต่บางฉบับไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย จำเลยหาได้ลงชื่อทั้ง 258 ฉบับไม่ เงินโจทก์จะขาดไปเท่าใดจำเลยหาต้องรับผิดไม่ โจทก์ชอบที่จะฟ้องนายแท้นายอำเภอและปลัดอำเภออีก 4 นาย กับนายเลื่อม นับตั้งแต่คณะกรรมการตรวจพบและรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดในทางละเมิด จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นระยะเวลา 8 ปีเศษ คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏแต่เพียงว่าผลของการตรวจสอบหลักฐานแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2498 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2490 ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตอำเภอหนองบังลำภูละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ไม่นำเงินฝากคลังตามระเบียบ ไม่ส่งแบบ ส.ส.1 แบบ ธ.น. 64 แบบ ธ.น. 65 และบัญชีอื่น ๆ ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2489 ตลอดมาจนเกิดเพลิงไหม้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำการโดยประมาท จริงอยู่จำเลยเคยทำหน้าที่เป็นนายไปรษณีย์แทนเมื่อนายอำเภอไม่อยู่ แต่ปรากฏว่าทำเป็นครั้งคราวเท่านั้น จะถือเป็นความผิดของจำเลยมิได้ ทั้งโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าการประมาทเลินเล่อเกิดในระยะเวลาวันเดือน ปีใด อันจะแสดงให้เห็นว่าเกิดในเวลาที่จำเลยทำหน้าที่เป็นนายไปรษณีย์หรือไม่ เหตุที่เงินหายไปก็ไม่ปรากฏว่าหายไปเพราะความประมาทเลินเล่อ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงิน ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าคดีจะขาดอายุความหรือไม่ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียมค่าทนาย 1,500 บาท แทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เรื่องนี้โจทก์กล่าวฟ้องว่า มีผู้อื่นประมาทด้วย ซึ่งมิใช่เป็นความประมาทร่วมกัน ตามรูปคดีต่างจะต้องรับผิดในผลแห่งความประมาทของแต่ละคนเป็นราย ๆ ไป เป็นหนี้ต่างรายไม่ใช่หนี้รายเดียว และไม่ใช่หนี้ร่วม ในทางพิจารณา โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าจำนวนเงินที่ขาดไปจากบัญชีเป็นเงินรายที่จำเลยได้รับไว้ปรากฏแต่เพียงว่าที่ทำการไปรษณีย์ได้รับเงินไว้ทั้งหมด 185,446 บาท 77 สตางค์ นำส่งคลังรวมทั้งเงินสดที่เก็บไว้เป็นเงิน 115,073 บาท 21 สตางค์ เงินที่นำส่งคลังและเงินสดที่เก็บไว้นี้ โจทก์นำสืบไม่ได้ความว่าใครส่ง จึงยังถือไม่ได้ว่าจำนวนเงินที่ขาดบัญชีเป็นเงินที่จำเลยรับไว้ คดีไม่มีทางจะบังคับให้จำเลยรับผิดร่วมกับผู้อื่นโดยส่วนเฉลี่ยตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คงพิพากษายืน ให้โจทก์เสียค่าทนายชั้นอุทธรณ์แปดร้อยบาทแทนจำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ประชุมพิจารณาแล้ว ศาลนี้เห็นด้วยศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า ตามฟ้องโจทก์กล่าวว่า มีผู้อื่นประมาทด้วย มิใช่หนี้รายเดียวกัน จึงมิใช่เป็นความประมาทร่วมกัน ตามลักษณะคดีชอบที่จะต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำเป็นราย ๆ ไป เพราะมิใช่เป็นหนี้ร่วม และทางพิจารณาโจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าเงินที่ขาดไปจากบัญชีเป็นเงินรายเดียวกับที่จำเลยได้รับไว้ เป็นแต่นำสืบว่าได้มีเงินขาดหายไป จะขาดหายไปในระหว่างไหนเมื่อใด อยู่ในความรับผิดของผู้ใด โจทก์นำสืบไม่ได้คงได้ความว่า ไปรษณีย์อนุญาตประจำอำเภอหนองบัวลำภู นายแท้ นายอำเภอมีฐานะเป็นนายไปรษณีย์ ต่อเมื่อนายอำเภอไม่อยู่จึงอยู่ในหน้าที่ของจำเลยกับสมุห์บัญชี และผู้อื่นอีกหลายคนด้วยกัน เงินที่ขาดหายไปจะอยู่ในระหว่างที่นายอำเภออยู่หรือไม่ ไม่ปรากฏ และจะอยู่ในหน้าที่รับผิดของผู้ใดก็ไม่ปรากฏเป็นแต่เมื่อปรากฏว่าเงินขาดหายไปแล้วได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาสอบสวน นายกิติมหาดไทยภาคผู้เป็นประธานกรรมการมีความเห็นว่าในเรื่องความรับผิดชอบเงินที่ขาดหายไปอยู่ในความรับผิดของนายแท้นายอำเภอ จำเลย และสมุห์บัญชี กับผู้อื่นอีกหลายคนด้วยกันแต่จะอยู่ในหน้าที่รับผิดของใครแน่ไม่ปรากฏ ขณะนี้ได้ฟ้องแต่จำเลยผู้เดียว นายแท้ นายอำเภอและนายเลื่อมหลบหนี คนอื่น ๆ นอกจากนี้ไม่ได้ฟ้อง นายกิติว่า ได้สอบสวนเรื่องเงินไปรษณีย์อนุญาตเสร็จในปี 2493 หรือ 2494 ได้ทำรายงานเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2496 ใจความว่า นายแท้ ประสาทนรสุขทำหน้าที่เป็นนายอำเภอหนองบังลำภู ในสมัยที่เกิดการทุจริตเป็นน.ป.ณ.อ. อำเภอหนองบัวลำภูโดยตำแหน่ง ปรากฏว่าในระยะเวลาระหว่างนั้น นายแท้ได้ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานไปโดยลำพัง จึงเกิดการทุจริตขึ้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ว่าการอำเภอหนองบัวลำภูแล้ว ได้ถูกสอบสวนและสั่งจับนายแท้ได้หลบหนีไปตามจับไม่ได้ ภายหลังได้ถูกทางราชการสั่งไล่ออกจากราชการฐานทุจริตต่อหน้าที่เมื่อ พ.ศ. 2490 นายแท้จะต้องรับผิดในเงินที่ขายหายทั้งหมด ส่วนนายสม สนธิพันธ์จำเลยนั้น นายกิติ เสนอความเห็นว่า จำนวนเงินที่ขาดหายจะเป็นเงินที่ขาดหาย ระหว่างสมุห์บัญชีเก็บเมื่อรับหรือขาดหาย เมื่ออยู่ในกำปั่น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ถุงเก็บเงินของ ป.ณ.ขาดสมุห์บัญชีเอาเงินมารวมในถุงเงินผลประโยชน์และแบบ ร.ด.3 ถูก เพลิงไหม้ จึงไม่มีทางจะยืนยันได้ว่าเงิน ป.ณ.หายเท่าใด นายสมสนธิพันธ์ จำเลยจึงไม่ควรรับผิดชอบดังนี้ ซึ่งศาลนี้มีความเห็นพ้องด้วย ความเห็นของนายกิติ ประธานกรรมการว่า ไม่พอที่จะฟังว่าเงินที่ขาดหายไปเนื่องจากความประมาทของจำเลย จะให้จำเลยมีส่วนเฉลี่ยรับผิดในเงินที่ขาดหายตามที่โจทก์ฟ้องหาได้ไม่ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับไป

Share